แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การขนส่งภายใต้เงื่อนไข F.I.O.T. ซึ่งหมายความว่าสินค้าจะทำการขนถ่ายโดยผู้ส่งและผู้รับสินค้าเท่านั้น กล่าวคือ ณ ท่าเรือต้นทางผู้ส่งสินค้าจะต้องรับผิดชอบในการขนสินค้าลงเรือ และท่าเรือปลายทางผู้รับตราส่งจะต้องดำเนินการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเอง จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าปุ๋ยที่เสียหายและสูญหายมิได้เกิดขึ้น ระหว่างการขนส่งทางทะเลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจประกันภัยและมีสาขาในประเทศไทย จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นทางการค้าปกติ โดยจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อ “ฮาลวาร์ด” โจทก์รับประกันภัยสินค้าปุ๋ยยูเรีย(GRANULAR UREA FERTILIZER) จำนวน 12,000 เมตริกตัน ซึ่งบริษัทเจียไต๋จำกัด ผู้เอาประกันภัยได้สั่งซื้อจากผู้ขายที่ประเทศซาอุดีอาระเบียในวงเงิน54,624,240 บาท จำเลยทั้งสามขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือประเทศซาอุดีอาระเบียมายังประเทศไทยโดยเรือฮาลวาร์ด เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด เมื่อสินค้าปุ๋ยยูเรียบรรทุกลงเรือและนายเรือเห็นว่าสินค้าถูกต้องอยู่ในสภาพเรียบร้อยครบจำนวน จำเลยที่ 3 โดยนายเรือฮาลวาร์ดได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง หลังจากผู้ขายได้รับชำระค่าสินค้าแล้ว ผู้ขายได้โอนใบตราส่ง(BILL OF LADING) ใบกำกับสินค้า (INVOICE) ใบรายการบรรจุหีบห่อ (PACKING LIST) ให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด เรือฮาลวาร์ดเดินทางมาถึงท่าเรือเกาะสีชังจังหวัดชลบุรีวันที่ 1 กันยายน 2537 และขนถ่ายสินค้าปุ๋ยจากเรือฮาลวาร์ดลงเรือลำเลียงส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด เสร็จเรียบร้อยแล้วปรากฏว่าสินค้าปุ๋ยเสียหายและสูญหายคิดเป็นเงิน 215,311 บาท บริษัทเจียไต๋จำกัด เรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ชำระ บริษัทเจียไต๋ จำกัด จึงเรียกร้องเอาแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยโจทก์พิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าได้รับความเสียหายจริง จึงชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทเจียไต๋ จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 เป็นเงิน 215,311 บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสาม แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 215,311 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ขนส่งหรือร่วมทำการขนส่งกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการประกอบพิธีการเรือ เช่น การติดต่อนำร่อง การติดต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาท เหตุที่มีชื่อจำเลยที่ 2ในใบตราส่งเนื่องจากนายเรือจำเลยที่ 3 พิมพ์ผิดผู้ส่งสินค้าได้เช่าเรือของจำเลยที่ 3 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 5 ซึ่งตามใบตราส่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า “ข้อสัญญาต่าง ๆ ทั้งหมดตามสัญญาเช่าเรือฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2537 ให้ถูกรวมเข้าไว้กับใบตราส่งนี้ด้วย (ALL terms as per C/P DD. 18/7/94INCORPORATED IN B/L) ประกอบกับใต้คำว่า ใบตราส่งได้ระบุว่าจะต้องใช้คู่กับสัญญาเช่าเรือ (TO be used with charterparties) กรณีจึงต้องถือว่าข้อสัญญาในเอกสารเช่าเรือทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของใบตราส่งและผูกพันผู้รับตราส่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 5 และ มาตรา 26 ซึ่งตามสัญญาเช่าเรือได้กำหนดอัตราค่าระวางภายใต้เงื่อนไข F.I.O.T. (Free in and out trimed) ซึ่งผู้ส่งสินค้าที่ต้นทางจะต้องเป็นผู้นำสินค้ามาลงเรือและเกลี่ยสินค้าในระวางเอง เมื่อสินค้ามาถึงปลายทางประเทศไทยผู้รับตราส่งจะต้องเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าออกจากเรือเอง โดยผู้ขนส่งไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือปริมาณหรือจำนวนหรือน้ำหนักของสินค้าที่ถูกนำมาลงเรือหรือขนถ่ายออกจากเรือแต่อย่างใด ส่วนปริมาณสินค้าที่ลงไว้ในใบตราส่งก็เป็นการจดแจ้งตามจำนวนที่ผู้ส่งแจ้งให้ทราบเท่านั้น ซึ่งผู้ขนส่งไม่ได้รับรองความถูกต้อง และได้ระบุไว้เป็นข้อสงวนในใบตราส่งแล้วว่า “น้ำหนัก ขนาดคุณภาพ จำนวน สภาพสิ่งที่บรรจุและมูลค่าไม่รับทราบ”( Weight, Measure, Quality, Condition, Contents and Value unknown) เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงประเทศไทยได้มีการสำรวจสินค้าในขณะเปิดระวางเรือ พบว่าสินค้ามีสภาพปกติ ไม่มีร่องรอยของการถูกลักขโมยหรือสูญหายและสินค้าได้ถูกขนถ่ายขึ้นจากระวางเรือทั้งหมดตามจำนวนจริงที่บรรทุกมา สินค้าจึงมิได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งของเรือฮาลวาร์ด สินค้าที่เปียกน้ำมีเพียง 31 ถุง คิดเป็นน้ำหนัก 1.550เมตริกตันเป็นเงิน 7,052 บาท ส่วนการปนเปื้อนหรือสกปรกของสินค้า มิได้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายเกินกว่า 7,052บาท ฟ้องโจทก์เรื่องค่าเสียหายเคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำนวนสินค้าที่เสียหายและสูญหายมีเท่าไร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 215,311 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 13,142.76 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า การขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้บริษัทผู้ส่งสินค้าได้เช่าเหมาเรือฮาลวาร์ดของจำเลยที่ 3 ไปบรรทุกปุ๋ยยูเรียจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัดในประเทศไทยโดยคิดค่าระวางตามสัญญาเช่าเรือภายใต้เงื่อนไข F.I.O.T. ซึ่งผู้ขายหรือผู้ส่งมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าลงเรือและเกลี่ยสินค้าในระวาง ส่วนผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งในประเทศไทยจะต้องเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าออกจากเรือเอง เมื่อบริษัทผู้ส่งที่ประเทศซาอุดีอาระเบียขนปุ๋ยยูเรียลงเรือฮาลวาร์ดแบบเทกอง (BULK)แล้ว ได้มีการสำรวจน้ำหนักของสินค้าโดยวิธีวัดระดับการกินน้ำลึกของเรือ(DRAFT SURVEY) ปรากฏว่าสินค้าหนัก 12,000 เมตริกตัน ตามใบรับรองการสำรวจเบื้องต้นเอกสารหมาย จ.7 นายศักดิ์ชัย ฤกษ์ชินบุตร กัปตันเรือฮาลวาร์ดได้ออกใบตราส่งทางทะเลใช้กับสัญญาเช่าเรือ “OCEAN BILL OF LADING” ( to be used with charter – parties) เอกสารหมาย จ.8 ให้แก่ผู้ส่งระบุว่าสินค้ามีน้ำหนัก 12,000 เมตริกตัน โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวจากบริษัทเจียไต๋ จำกัด หลังจากผู้เอาประกันภัยได้ชำระค่าสินค้าปุ๋ยยูเรียโดยผ่านพิธีการทางธนาคารแล้ว ผู้ส่งจึงโอนใบตราส่ง ใบกำกับสินค้าและใบรายการบรรจุหีบห่อ เอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ให้แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อเรือฮาลวาร์ดเดินทางมาถึงประเทศไทยและจอดทอดสมออยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และท่าเรือบี 21 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการขนถ่ายสินค้าจากเรือฮาลวาร์ดลงเรือลำเลียงและจากเรือฮาลวาร์ดลงที่ท่าเรือบี 21 ส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด ผู้รับตราส่งแล้ว บริษัทเจียไต๋ จำกัด อ้างว่าสินค้าเสียหายและสูญหายไปบางส่วน โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด ผู้เอาประกันภัยและรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ปุ๋ยยูเรียที่ขนส่งได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่งทางทะเล อันจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อบริษัทเจียไต๋ จำกัด ผู้ทรงใบตราส่งซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยสินค้าที่ขนส่งไว้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าจำเลยมีนายศักดิ์ชัย นายเรือฮาลวาร์ด และนายพิทยากรเบิกความว่าบริษัทซาอุดีอาระเบีย เฟอร์ทิไลเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ( SANAPIK)ริยาด 11525 ผู้ส่งที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นผู้เช่าเรือฮาลวาร์ดไปขนส่งสินค้าพิพาทเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัทเจียไต๋ จำกัด ตามสัญญาเช่าเรือเอกสารหมาย ล.6 ตามสัญญาเช่าเรือดังกล่าว ข้อ 13 ระบุอัตราค่าระวางไว้ 16ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 เมตริกตันภายใต้เงื่อนไข F.I.O.T. ซึ่งหมายความว่าสินค้าจะทำการขนถ่ายโดยผู้ส่งและผู้รับสินค้าเท่านั้น กล่าวคือ ณ ท่าเรือต้นทางผู้ส่งสินค้าจะต้องรับผิดในการขนสินค้าลงเรือฮาลวาร์ดและท่าเรือปลายทางผู้รับตราส่งจะต้องดำเนินการขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเอง จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนถ่ายสินค้า ขณะเรือฮาลวาร์ดจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ผู้รับตราส่งได้จัดหาเรือลำเลียง 2 ลำไปขนถ่ายสินค้าจำนวน 950 เมตริกตันและนายเรือของเรือลำเลียงกับผู้ตรวจสอบสินค้าซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับตราส่งและตัวแทนเรือได้ลงชื่อรับรองตามบันทึกการรับสินค้าของเรือเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 หลังจากนั้นเรือฮาลวาร์ดได้แล่นไปจอดเทียบที่ท่าเรือบี 21 อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทเจียไต๋ ผู้รับตราส่งได้จ้างบริษัท พี.เอ็น.วี.บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ทำการขนถ่ายสินค้าได้น้ำหนักรวม 11,050 เมตริกตัน บริษัทโทรีเซน (กรุงเทพ) จำกัด ในฐานะตัวแทนเรือ บริษัทพี.เอ็น.วี.บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในฐานะผู้ขนถ่าย และนายเรือฮาลวาร์ดได้ลงชื่อรับรองไว้ตามเอกสารหมาย ล.3 รวมน้ำหนักสินค้าที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือทั้งสิ้น 12,000 เมตริกตัน ส่วนโจทก์มีนายบุญพิศ สาครสิทธิศักดิ์ พนักงานของบริษัทแอสโซซิเอทเต็ด มารีน เซอร์เวเยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจในการรับจ้างสำรวจความเสียหายของสินค้า ไปสำรวจความเสียหายและทำรายงานการสำรวจไว้ตามเอกสารหมาย จ.22 ว่าสินค้าเสียหายและสูญหายไปรวม 107.713 เมตริกตันแต่ตามรายงานการสำรวจเบื้องต้น(ดร๊าฟท์) เอกสารหมาย จ.19 ซึ่งบริษัทแอสโซซิเอทเต็ด มารีนเซอร์เวเยอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ไปสำรวจขณะที่เรือฮาลวาร์ดจอดทอดสมอที่เกาะสีชังจังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2537 และที่ท่าเรือ 21 บี อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 ปรากฏว่าสินค้าที่ขนถ่ายขึ้นจากเรือเท่ากับ 11,984.418 เมตริกตัน สินค้าคงสูญหายไปเพียง 15.582 เมตริกตันเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากนายบุญพิศต่อไปว่าการขนสินค้าลงเรือลำเลียงได้มีการปลิวลงทะเลไปประมาณ 200 ถึง 300 กิโลกรัม แต่ในรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.22 ไม่ปรากฏข้อความดังกล่าวพยานหลักฐานโจทก์จึงขัดกันเป็นพิรุธ ในส่วนสินค้าที่เสียหายเนื่องจากเปียกน้ำและปนเปื้อนนั้นตามเอกสารหมาย จ.22 ระบุว่าสินค้าที่ขนถ่ายจากเรือฮาลวาร์ดมีส่วนที่เปียกน้ำและปนเปื้อน 1.550 เมตริกตัน และส่วนที่ขนถ่ายจากเรือลำเลียงมีส่วนที่ปนเปื้อน 0.100 เมตริกตัน เห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่บริษัทแอสโซซิเอทเต็ด มารีน เซอร์เวเยอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้ลงชื่อเอกสารดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 นอกจากนี้นายบุญพิศพยานโจทก์ยังได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่ามีสินค้าที่เปียกน้ำและเป็นก้อนประมาณ 600 กิโลกรัม ส่วนสินค้าที่ปนเปื้อนนายบุญพิศว่าเกิดจากการทำงานที่หน้าท่าเรือจังหวัดสมุทรปราการประมาณ 1 ตัน ซึ่งมิได้เกิดจากการขนของทางทะเลของจำเลยที่ 3 รายงานการสำรวจและคำเบิกความพยานโจทก์จึงแตกต่างขัดแย้งกันไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานจำเลยที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าปุ๋ยยูเรียที่เสียหายและสูญหายมิได้เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งทางทะเลของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3ชอบแล้วฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน