คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1625/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธประจำตัวของพลตำรวจ ธ. ที่จะนำติดตัวไปได้โดยชอบ การที่จำเลยสะพายปืนดังกล่าวซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พลตำรวจ ธ. เป็นผู้ขับไปด้วยกัน น่าจะเป็นไปเพื่อความสะดวกต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยเป็นเพียงถือไว้แทนเท่านั้น การครอบครองอาวุธปืน ยังคงอยู่กับพลตำรวจ ธ. ถือไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับการมีอาวุธปืนอันจะเป็นความผิดในช่วงนี้ แต่มีข้อเท็จจริงต่อมาว่า หลังจากเกิดเหตุไปกรรโชกผู้เสียหาย แล้ว ระหว่างจำเลยและพลตำรวจ ธ. หลบหนีจำเลยได้รับฝากอาวุธปืนของกลางซุกซ่อนไว้ในบ้านของตนจนเจ้าพนักงานติดตามยึดคืนมาได้ พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในตอนหลัง ถือได้ว่าจำเลยมามีส่วนกับการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าว โดยไม่ชอบ อันเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรม คือ จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีกหนึ่งคนร่วมกันมีอาวุธปืนยาวแบบ เอช.เค.33 ขนาด 5.56 หมายตราโลห์ 01858 จำนวนหนึ่งกระบอก ซึ่งเป็นอาวุธปืนของทางราชการกรมตำรวจ อันมิใช่อาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาติให้ได้ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพกพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์และจำเลยกับพวกร่วมกันแต่งกายด้วยเครื่องแบบตำรวจและมีอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยทำการจับกุมนายทองผู้เสียหาย ข้อหามีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจและไม่มีอำนาจจับกุม แล้วจำเลยกับพวกร่วมกันขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินคือ เงินจำนวน 5,000 บาท แก่จำเลยกับพวก มิฉะนั้นจะจับกุมดำเนินคดีอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพ จนผู้เสียหายต้องยอมให้เงินจำนวน 4,000 บาทแก่จำเลยกับพวกไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 337, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 55, 72, 72 ทวิ, 78 คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2519) ข้อ 3, 6, 7 ให้จำเลยคืนเงิน 4,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2519) ข้อ 3, 6, 7 ลงโทษฐานมีอาวุธปืนกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี ฐานพกอาวุธปืนกระทงหนึ่งจำคุก 6 เดือน ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 337 วรรคสอง (2)ซึ่งเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษหนักตามมาตรา 337 วรรคหนึ่ง (2)ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 อีกกระทงหนึ่งจำคุก 3 ปี รวมจำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี ให้คืนเงิน4,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 145, 337 วรรคสอง (2) ลงโทษตามมาตรา 337 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีและพกอาวุธปืน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนประจำตัวของพลตำรวจธนะศักดิ์ ที่จะนำติดตัวไปได้โดยชอบ การที่จำเลยสะพายปืนซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พลตำรวจธนะศักดิ์เป็นผู้ขับไปด้วยกัน น่าจะเป็นเพื่อความสะดวกต่อการขับขี่รถจักรยานยนต์ จำเลยเป็นเพียงถือไว้แทนเท่านั้น การครอบครองอาวุธปืนยังคงอยู่กับพลตำรวจธนะศักดิ์ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมามีส่วนร่วมกับการมีและพกอาวุธปืนอันจะเป็นความผิดในช่วงนี้ แต่มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่าหลังจากเกิดเหตุไปกรรโชกผู้เสียหายแล้ว ระหว่างที่จำเลยและพลตำรวจธนะศักดิ์หลบหนี จำเลยได้รับฝากอาวุธปืนของกลางซุกซ่อนไว้ในบ้านของตนจนเจ้าพนักงานติดตามยึดคืนมาได้ พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยในตอนหลังย่อมถือได้ว่าจำเลยมามีส่วนกับการครอบครองอาวุธปืนดังกล่าวโดยไม่ชอบ และผิดต่อกฎหมายฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2519 ข้อ 6 อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปีจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน รวมแล้วจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share