แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยซึ่งเป็นคนวิกลจริตกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฐานพยายามฆ่าผู้อื่นฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวต่อเนื่องเป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องปรับบทลงโทษจำเลยประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, 392, 80, 91, 33 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 53, 371, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสาม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จำคุก 1 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนให้ยกริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 2 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตด้วยแล้วเป็นจำคุก 3 ปี 5 เดือน เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีจิตบกพร่องและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกเห็นสมควรรอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาจิตใจที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชโดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยได้พาอาวุธปืนสั้นของกลางติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงผู้ตายถึงแก่ความตายและยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2เพราะผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 วิ่งหลบหนีทัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1และที่ 2 ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่องโรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยยิงผู้ตายถูกที่ศีรษะและลำคออันเป็นอวัยวะสำคัญ บ่งชี้ว่าได้ยิงโดยเล็งเป้าก่อนเหนี่ยวไกปืน แสดงว่ายิงขณะรู้ตัวดี สามารถบังคับตนเองได้หากยิงในขณะจิตฟั่นเฟือนกระสุนปืนย่อมไม่ถูกอวัยวะสำคัญ และการที่จำเลยไม่ยิงนายเอกชัยเพราะจำเลยรู้ว่าเป็นหลานของตน ยิ่งเป็นสิ่งประกอบว่าจำเลยรู้ตัวดี ทั้งก่อนยิงจำเลยได้เรียกผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ให้เข้าไปหา เป็นการเตรียมการจะฆ่าผู้ตายและผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 มาก่อน ข้อเท็จจริงได้ความจากผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยเบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ6 เดือน ถึง 7 เดือน จำเลยเคยมีอาการผิดปกติทางจิต และเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลธนบุรี หัวหิน วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 03.30 นาฬิกา จำเลยตื่นนอนมีอาการผิดปกติสังเกตจากคำพูด ดวงตา และสีหน้าเคร่งเครียด พยานเห็นจำเลยนำพระพุทธรูปมาวางที่เตียงนอนพร้อมกับหยิบเทียนไข 1 เล่ม มาใช้มือรูดขึ้นลงและพูดบ่นพึมพำ ไม่รู้เรื่องอยู่ประมาณ 10 นาที ถึง 15 นาที ก็นั่งพัก หลังจากนั้นจำเลยหยิบเสื้อผ้าออกมาใส่เสร็จแล้วถอดออกนำไปเก็บในตู้ แล้วก็หยิบออกจากตู้มาใส่อีก โดยทำอยู่หลายครั้ง ผู้เสียหายที่ 3 รู้สึกว่าจำเลยมีอาการผิดปกติทางจิตมากขึ้น จึงบอกจำเลยว่าจะพาไปรักษาที่โรงพยาบาลธนบุรีหัวหิน โดยผู้เสียหายที่ 3 ได้ขอให้นายเอกชัย แพรเขียว หลานจำเลยช่วยขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่โรงพยาบาล แต่นายเอกชัยขับรถไม่เป็น จึงขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนช่วยขับรถยนต์ให้ ผู้เสียหายที่ 1 มาเที่ยวบ้านนายเอกชัยพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน คือ ผู้ตายและผู้เสียหายที่ 2 นายเอกชัยจึงชวนผู้ตายและผู้เสียหายที่ 2 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยและผู้เสียหายที่ 3 ด้วย โดยจำเลยขอให้ไปพบเพื่อนที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์เพื่อทวงหนี้ก่อน แต่ไม่พบเพื่อนจำเลย จึงเดินทางต่อและแวะไหว้ศาลหลักเมืองประจวบคีรีขันธ์อีก โดยข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายทั้งสามและนายเอกชัยตรงกันว่า ผู้ตาย ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยพบไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนวันเกิดเหตุและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน ตอนนั่งรถยนต์มาถึงที่เกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายที่ 3 นั่งตอนหน้ารถ ส่วนนายเอกชัยผู้ตาย และผู้เสียหายที่ 2 นั่งอยู่กระบะหลังรถก่อนจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ที่ศาลหลักเมืองก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับบุคคลดังกล่าว จำเลยคงเรียกผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2เข้าไปหาบนศาลหลักเมือง แล้วชักอาวุธปืนยิงผู้ตายกับผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยไม่มีสาเหตุซึ่งบุคคลธรรมดาทั่วไปไม่กระทำเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ที่ว่าก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 เดือน ถึง 7 เดือน จำเลยเคยมีอาการผิดปกติทางจิต และเคยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล กับคำเบิกความของแพทย์หญิงกลวดี วิสุทธิโกศลพยานจำเลยและใบรับรองแพทย์ตามเอกสารหมาย ล.5ซึ่งระบุว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง ประกอบกับรายงานการวินิจฉัยโรคของโรงพยาบาลนิติจิตเวชตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งระบุเช่นกันว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิต แล้วเชื่อว่า จำเลยกระทำไปเพราะมีจิตบกพร่องหรือโรคจิต แต่ข้อเท็จจริงได้ความอีกว่าขณะเกิดเหตุนายเอกชัยก็อยู่ใกล้กับจำเลยและเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยด้วยแต่จำเลยไม่ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายเอกชัย หรือทำร้ายนายเอกชัยแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า ภาวะจิตใจของจำเลยขณะกระทำความผิดยังสามารถรู้สึกผิดชอบหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7พิพากษาแก้เพียงเป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 2 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 1 ปี ยังไม่ถูกต้องเพราะจำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญและฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวต่อเนื่องเป็นหลายกรรมต่างกัน ต้องปรับบทลงโทษจำเลยประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปด้วย และในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสาม ยังไม่ถูกต้องที่ถูกจำเลยมีความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 7มิได้แก้ไข การปรับบทลงโทษแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,288 ประกอบด้วยมาตรา 80, 392 และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง โดยทุกกระทงความผิดประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง ด้วย รวมจำคุก 3 ปี 5 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาจิตใจที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชโดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง ภายในเวลาที่รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7