แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 มุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้นดังนั้นเมื่อขณะที่ ล. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก คือ โจทก์ จ. และ ม. เพียง 3 คนซึ่ง จ. ได้ถึงแก่ความตายภายหลัง ล. จำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรจ. แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ล. ก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของ จ. คือรับมรดกในส่วนของ จ.เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทที่ได้กระทำการตามฟ้องอันจะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของ ล.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นทายาทผู้รับมรดกแทนที่ในส่วนของนายเมิน ประเสริฐ บิดาผู้ซึ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 นายเมินจ่าสิบตำรวจเจริญ ประเสริฐ และโจทก์ที่ 2 เป็นทายาทของนางหลง ประเสริฐเจ้ามรดกซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่5 มกราคม 2500 จ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตายไปแล้วนางหลงมีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง(ส.ค.1) เนื้อที่ 1 ไร่ 33 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาของจ่าสิบตำรวจเจริญและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งแทนที่ในส่วนของจ่าสิบตำรวจเจริญ และเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางหลงไว้แทนทายาทของนางหลงเจ้ามรดกทุกคนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับจ่าสิบตำรวจเจริญประมาณปลายปี 2524 จำเลยที่ 1 ได้หลอกลวงโจทก์ทั้งสองและทายาทของนางหลงทั้งหมดโดยใช้อุบายมีลักษณะการฉ้อฉลว่าจำเลยที่ 1 จะไปดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินของที่ดินมรดกตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เพื่อจะได้นำมาจัดการแบ่งให้แก่ทายาททุกคนต่อไป โจทก์ทั้งสองจึงได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการ ต่อมาปลายเดือนธันวาคม2532 โจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 แบ่งที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่ทายาท แต่จำเลยที่ 1 ป่วยเบี่ยงเรื่อยมาโจทก์ทั้งสองได้ไปทำการตรวจสอบ จึงทราบว่าที่ดินมรดกจำเลยที่ 1 ได้ออกโฉนดที่ดินแล้วคือ โฉนดเลขที่ 14066และแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีว่า จำเลยที่ 1เป็นทายาทผู้รับมรดกแทนที่ของจ่าสิบตำรวจเจริญซึ่งเป็นสามีในทรัพย์อันเป็นมรดกของนางหลงเจ้ามรดกโดยไม่แจ้งว่ายังมีโจทก์ทั้งสองและทายาทอื่น ๆ อยู่อีก และทราบว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 จำเลยที่ 1 ร่วมมือกับจำเลยที่ 2โดยลงชื่อจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาใช้อุบายเบียดบังยักยอกและยักย้ายเอาทรัพย์มรดกที่เป็นส่วนของทายาทอื่น ๆ ไปเป็นของจำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์มีหนังสือขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีระงับการทำนิติกรรมใด ๆ ในโฉนดที่ดินดังกล่าวหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองแจ้งให้ทราบว่าจำเลยทั้งสองยอมแบ่งที่ดินมรดกให้แก่ทายาทอื่น ๆ โดยทำบันทึกข้อตกลงว่าที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนางหลงนั้นจำเลยทั้งสองได้ครอบครองไว้แทนทายาททั้งหมด และยินยอมที่จะแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ทายาทผู้รับมรดกแทนที่นายเมิน 100 ตารางวา และจะใส่ชื่อโจทก์ที่ 1 และแบ่งส่วนให้แก่ทายาทอื่น ๆ ต่อไปตามกฎหมายโจทก์ทั้งสองได้นัดให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินให้แก่ทายาทอื่น ๆ หลายครั้ง แต่จำเลยทั้งสองบ่ายเบี่ยงตลอดมา การที่จำเลยที่ 1 ได้ทำการฉ้อฉลใช้อุบายยักยอกเบียดบังและได้กระทำการยักย้ายทรัพย์มรดกไปเกินส่วนที่ตนจะได้รับ โดยรู้อยู่ว่าการกระทำเช่นนั้นทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น ๆ นั้น จึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกรายนี้เลย ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันยักย้ายเบียดบังเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีสิทธิขอบังคับให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง(บางหลวงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก)จังหวัดปทุมธานี ให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่ โจทก์ที่ 1 จำนวน 100 ตารางวาตามสัญญาบันทึกข้อตกลงแบ่งที่ดินมรดกฉบับลงวันที่12 มีนาคม 2533 และแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินตามโฉนดดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 ครึ่งหนึ่งของส่วนที่เหลือจากการแบ่งให้โจทก์ที่ 1 แล้ว และขอให้ศาลสั่งกำจัดมิให้จำเลยที่ 1มีสิทธิได้รับมรดกของนางหลงเจ้ามรดก หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ทายาทผู้รับมรดกแทนที่ของนายเมิน ประเสริฐ บุตรชายคนที่ 2ของนางหลง ประเสริฐ ทั้งนี้ เพราะนายเมินถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2522 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่นางหลงถึงแก่ความตาย โดยที่นางหลงถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2500 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้สืบสันดานผู้รับมรดกแทนที่ของนายเมินแล้วโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิใด ๆในกองมรดกของนางหลง เมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่ผู้รับมรดกแทนที่ของนายเมินจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกของนางหลงและที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาที่จะแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ 1 จำนวน100 ตารางวา ตามบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดก โจทก์ที่ 1จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์มรดก และจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือบอกเลิกข้อตกลงแบ่งที่ดินไปยังโจทก์ที่ 1แล้วเนื่องจากจำเลยทั้งสองหลงผิดคิดว่าโจทก์ที่ 1มีสิทธิที่จะได้รับมรดกของนางหลง โจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง ไม่ใช่เป็นมรดกของนางหลง จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปีแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจ่าสิบตำรวจเจริญซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อเดือนมกราคม 2522 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับจ่าสิบตำรวจเจริญก่อนที่นางหลงจะถึงแก่ความตาย เมื่อจ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยโจทก์ทั้งสองไม่ได้ร่วมครอบครองด้วย และจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททั้งหมดของนางหลง ฉะนั้น จำเลยที่ 1จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นนี้ว่า นางหลง ประเสริฐ มีบุตร 3 คน คือจ่าสิบตำรวจเจริญ ประเสริฐ ซึ่งเป็นสามีนางเฉลิม(จำเลยที่ 1)นายเมิน ประเสริฐ ซึ่งเป็นบิดานายดาบตำรวจสุพจน์ ประเสริฐ(โจทก์ที่ 1) และโจทก์ที่ 2 วันที่ 5 มกราคม 2500 นางหลงถึงแก่ความตายต่อมาเดือนมกราคม 2522 จ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตายครั้นวันที่ 8 สิงหาคม 2522 นางเมินถึงแก่ความตาย ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 8 ลงวันที่ 28 เมษายน 2498มีชื่อนางหลงและนางเจือ ผลละออ เป็นผู้ร่วมกันแจ้งการครอบครอง ต่อมา พ.ศ. 2524 จำเลยที่ 1 และนางเนียม ผลละออได้นำไปขอออกโฉนดแยกกันเป็นส่วนสัด ทางราชการได้ออกให้แก่จำเลยที่ 1 คือที่ดินโฉนดเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง(บางหลางฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก)จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่1 ไร่ 33 ตารางวาเมื่อวันที่14 มิถุนายน 2526 ซึ่งคือที่พิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 1 มีว่า โจทก์ที่ 1มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทซึ่งโจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นมรดกของนางหลงให้แก่โจทก์ที่ 1 โดยอ้างว่ามีบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6 แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่าทำบันทึกข้อตกลงไปโดยสำคัญผิดและได้บอกล้างแล้วแต่เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทนี้ไว้ จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองสละประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6 จริง ดังนั้นบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยทั้งสองและโจทก์ทั้งสอง ทั้งสามารถฟ้องร้องบังคับคดีแก่กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสองแม้โจทก์ที่ 1 จะบรรยายฟ้องตอนต้นว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายเมินก็เป็นเพียงความเข้าใจข้อกฎหมายของโจทก์ที่ 1คลาดเคลื่อนไปเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นเรื่องฟ้องขอแบ่งที่พิพาทตามบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกมิใช่ฟ้องขอให้แบ่งมรดกในฐานะผู้รับมรดกแทนที่แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกนางหลงหรือไม่ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนและเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นหรือครอบครองเพื่อตนเอง เห็นว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองเอกสารหมาย จ.5แผ่นที่ 1 ได้นำไปเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่พิพาท โดยการขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ให้ถือคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ด้วยตามบันทึกถ้อยคำเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 12 ซึ่งตามแบบแจ้งการครอบครองก็มีชื่อของนางหลงเป็นผู้แจ้งการครอบครองทั้งมีชื่อจ่าสิบตำรวจเจริญสามีของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นพยานในแบบแจ้งการครอบครองดังกล่าวสำหรับบันทึกถ้อยคำก็ระบุข้อความว่า ที่พิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองเป็นมรดกของนางหลง เมื่อนางหลงถึงแก่ความตายที่พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่จ่าสิบตำรวจเจริญ และเมื่อจ่าสิบตำรวจเจริญถึงแก่ความตาย ที่พิพาทย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 ตามลำดับ เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารมหาชนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานว่าแท้จริงและถูกต้อง จำเลยทั้งสองก็มิได้นำสืบหักล้างแต่ประการใดนอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งมรดกตามเอกสารหมาย จ.6 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วบันทึกดังกล่าวก็ระบุว่าที่พิพาทเป็นมรดกของนางหลงโดยจำเลยทั้งสองครอบครองแทนทายาทอื่น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานจำเลย คดีรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหลงและจำเลยที่ 1 ครอบครองที่พิพาทแทนทายาทอื่นมิใช่ครอบครองเพื่อตนเอง
ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลทรัพย์มรดกหรือไม่ซึ่งเป็นปัญหาที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คือการกำจัดมิให้รับมรดกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 บัญญัติว่า”ทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลย” เห็นว่าบุคคลที่จะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งเฉพาะแต่ทายาทของเจ้ามรดกขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าขณะที่นางหลงถึงแก่ความตายมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกคือ โจทก์ที่ 2 จ่าสิบตำรวจเจริญและนายเมินเพียง 3 คน จำเลยทั้งสองเป็นภรรยาและบุตรนายเจริญ แม้ว่าจะมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนางหลงก็เพียงแต่ในฐานะผู้สืบสิทธิของจ่าสิบตำรวจเจริญคือรับมรดกในส่วนของจ่าสิบตำรวจเจริญเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นทายาทอันจะถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของนางหลงได้ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฉ้อฉลทรัพย์มรดกหรือไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
แต่ที่โจทก์ที่ 2 ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทซึ่งมีเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 33 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวนกึ่งหนึ่งหลังจากที่แบ่งให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 100 ตารางวา แล้วเท่ากับขอแบ่งที่พิพาทจำนวน 166 1/2 ตารางวานั้น เห็นว่าที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหลง ขณะที่นางหลงถึงแก่ความตายมีทายาท 3 คน คือ โจทก์ที่ 2 จ่าสิบตำรวจเจริญและนายเมิน ดังนั้น ทายาททั้งสามจึงมีสิทธิได้รับมรดกคนละเท่ากัน คือคนละจำนวน 144 1/3 ตารางวา โจทก์ที่ 2จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่พิพาทจำนวน 166 1/2 ตารางวา เพราะเกินไปจากสิทธิที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่พิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 15066 ตำบลบ้านฉาง (บางหลวงฝั่งเหนือ)อำเภอเมืองปทุมธานี (เชียงราก จังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ที่ 1จำนวน 100 ตารางวา ให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 144 1/3ตารางวา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์