คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่ากัน และต่อมาได้ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งสินสมรสกัน โดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่บุตร หลังจากนั้น 7 วัน จำเลยที่ 1 นำที่ดินและตึกแถวพิพาทไปขายฝาก ต่อมาจึงไถ่ถอน การขายฝากแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 ในวันเดียวกัน ทั้งที่ ยังมิได้รับชำระค่าที่ดินครบถ้วนโดยจำเลยที่ 2 รู้ดีว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ซื้อขาย แต่โจทก์ เป็นผู้ครอบครองและมี ปัญหาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสมคบกันทำ นิติกรรมซื้อขายเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงมิให้ จำเลยที่ 1 ต้องโอนทรัพย์สิน รายนี้ให้แก่บุตรตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง หาใช่เป็น การซื้อขายโดยสุจริตไม่ ศาลเพิกถอนการ โอนได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินค่าที่ดินโฉนดเลขที่ 66855 พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท กับค่าเสียหายฐานผิดสัญญาอีก 3,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 38127 และ 38131 แล้วแบ่งเงินที่ขายได้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่อาจขายได้ ให้ชดใช้เงิน 50,000 บาทแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 66855 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 500,000 บาท แก่เด็กชายรังสรรค์และเด็กชายเสกสรรบุตรของโจทก์ตามคำขอ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาทแก่โจทก์โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นสามีภริยากันเมื่อปี 2509 มีบุตรด้วยกันสองคนคือเด็กชายรังสรรค์และเด็กชายเสกสรร ที่ดินโฉนดเลขที่ 66855 ตำบลลาดยาวฯ พร้อมตึกแถวเลขที่ 19 ที่พิพาทกันนี้เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยซื้อมาเมื่อปี 2515 ในราคา 180,000 บาท เมื่อซื้อแล้วได้ลงทุนดัดแปลงตบแต่งเป็นเงินราว 70,000 บาท และเข้าอยู่ในปี 2515 นั้นเอง ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2518 ในหนังสือสัญญาหย่าฉบับเดิมตามเอกสารหมาย จ.6 มีข้อตกลงให้โจทก์นำที่ดินและตึกแถวรายนี้ไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง จำเลยที่ 1 เคยมอบให้นายจงเจตน์สามีจำเลยที่ 2 เป็นทนายมีหนังสือแจ้งมายังโจทก์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2520 ให้รีบจัดการขายที่ดินและตึกแถวรายนี้ภายใน 20 วัน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 โจทก์มีหนังสือตอบขอบอกล้างเงื่อนไขตามสัญญาหย่าฉบับเดิมไปยังจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2520 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 จงใจปิดบังยักยอกทรัพย์สินหลายอย่างดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 ในที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งสินสมรสกันใหม่เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2520 โดยจำเลยที่ 1 ยอมโอนที่ดินและตึกแถวรายพิพาทนี้ให้เป็นกรรมสิทธิแก่บุตรทั้งสองของโจทก์นับแต่วันทำสัญญา หากการโอนมีข้อขัดข้องประการใด จำเลยที่ 1 จะต้องจัดการโอนให้เสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันทำสัญญา ส่วนทรัพย์สินอื่น จำเลยที่ 1 จะต้องจัดการจำหน่ายแล้วนำเงินมาแบ่งครึ่งกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ความละเอียดปรากฏในหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความหมาย จ.2 หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกันได้เพียง 7 วัน จำเลยที่ 1 ก็นำที่ดินและตึกแถวพิพาทซึ่งจะต้องโอนให้แก่บุตรทั้งสองของโจทก์ตามสัญญานั้นไปจดทะเบียนขายฝากให้แก่นายสมชาย ไตรพัฒนาพร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2520 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2521 โจทก์ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือหมาย จ.4 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้ ครั้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2521 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากจากนายสมชายแล้วโอนขายต่อให้จำเลยที่ 2 ไปในวันเดียวกันปรากฏตามสารบัญทะเบียนโฉนดที่ดินหมาย ล.3 และหนังสือสัญญาขายที่ดินหมาย ล.4

คดีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินและตึกแถวเลขที่ 19 รายพิพาทนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนจริงหรือไม่” ฯลฯ

“พิเคราะห์แล้ว หนังสือสัญญาขายที่ดินรายพิพาทหมาย ล.4 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินและตึกแถวสามชั้น 1 คูหา เลขที่ 19 จากจำเลยที่ 1 ในราคา 300,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ผู้ขาย ได้รับเงินค่าที่ดินรายนี้เรียบร้อยแล้วนั้น เป็นการแสดงเจตนาลวงของคู่กรณีอย่างชัดแจ้ง เพราะจำเลยที่ 1 ก็รับรู้ว่าความจริงมิได้ซื้อขายกันในราคาดังกล่าว และความจริงยังชำระเงินกันไม่เรียบร้อย โดยยังค้างชำระกันอยู่อีกถึง 200,000 บาท เป็นการผิดวิสัยที่ผู้ขายซึ่งยังไม่ได้รับเงินค่าที่ดินจากผู้ซื้ออยู่เป็นจำนวนถึงเกือบครึ่งราคา จะกลับยอมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายให้ผู้ซื้อไปก่อนโดยง่ายดาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะชำระส่วนที่ค้างอีก 200,000 บาทให้ภายใน 2 เดือนก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการชำระเงินกันจริงตามนั้น และทั้งที่จำเลยที่ 2 ยังค้างชำระค่าที่ดินอยู่เช่นนั้นแต่จำเลยที่ 1 กลับยอมให้จำเลยที่ 2 คิดหักเอาเป็นค่าเช่าได้อีกเดือนละ 2,500 บาทเป็นเวลาแรมปี อันเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยการซื้อขายกันอย่างธรรมดาทั่วไป ถ้าจะว่าถึงปัญหาเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รู้ดีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนซื้อว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขายมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ซื้อขายแต่โจทก์เป็นผู้ครอบครองอยู่ และจำเลยที่ 2 ยังรู้ด้วยว่าโจทก์ได้แบ่งชั้นล่างให้นางบุษบาเช่าทำร้านเสริมสวยด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 2 เองก็ทราบดีอยู่แล้วว่าถ้าจะซื้อที่ดินและตึกแถวรายนี้ต้องมีปัญหาในเรื่องการส่งมอบแน่นอน ไม่แต่เท่านั้นจำเลยที่ 2 ยังทราบดีว่า ทรัพย์สินรายนี้มีปัญหาพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มาแต่เก่าก่อน ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยนำเรื่องมาปรึกษาและขอร้องให้นายจงเจตน์ สามีจำเลยที่ 2 ช่วยเป็นทนายให้ จำเลยที่ 2 เองก็เบิกความยอมรับว่าก่อนจะซื้อได้ปรึกษากับนายจงเจตน์สามีโดยตลอด ตัวจำเลยที่ 2 เองเป็นทั้งเพื่อนเป็นทั้งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ทุกครั้งที่มีปัญหาอีกทั้งเป็นผู้จัดหาทนายความให้จำเลยที่ 1 โดยให้นายจงเจตน์สามีของตนเป็นทนายให้จำเลยที่ 1 อีกด้วยจำเลยที่ 2 จะแก้ตัวว่าไม่ทราบว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีปัญหาพิพาทเรื่องทรัพย์สินกันย่อมฟังไม่ขึ้น นอกจากนี้ในหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีถึงจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2522 ซึ่งมีข้อความพรรณาว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ช่วยซื้อไว้ผมก็หมดแล้ว นั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวว่า การจดทะเบียนซื้อขายครั้งนี้เป็นการช่วยจำเลยที่ 1 ไม่ให้หมด โดยให้ยังคงมีทรัพย์สินเหลืออยู่แทนที่จะต้องโอนให้บุตรทั้งสองไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องหมดตัวนั่นเอง พฤติการณ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติต่อกันอย่างไม่สมเหตุสมผลและผิดวิสัยธรรมดาในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินรายพิพาทนี้ ส่อแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการสมคบกันทำนิติกรรมซื้อขายเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ต้องโอนทรัพย์สินรายนี้ให้แก่บุตรทั้งสองของโจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั่นเอง หาใช่เป็นการซื้อขายกันจริงจังโดยสุจริตไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นการซื้อขายโดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนราคาที่ดินพิพาทพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมา 500,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ว่าควรจะมีราคา 800,000 บาทฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66855 ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เสีย และให้จำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้เด็กชายรังสรรค์และเด็กชายเสกสรรบุตรทั้งสองของโจทก์และจำเลยที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนา หากโอนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ให้ชดใช้ราคา 500,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share