คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5916/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำบอกเล่าของผู้ตายนั้นก่อนที่จะรับฟังต้องปรากฎว่าในเวลาที่ผู้ตายต้องพูดเช่นนั้น ผู้ตายคิดว่าตนจะตายไม่มีหวังจะรอดชีวิต แต่โจทก์ไม่ได้สืบข้อความนี้ จึงฟังลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4),83 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฎิเสธ
นางเปี่ยน อ่องสุภารมณ์ มารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ให้ประหารชีวิต ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ริบของกลาง
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ตายกับจำเลยเป็นสามีภริยากันและอยู่กินด้วยกันมาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว มีบุตรด้วยกัน 1 คนผู้ตายชอบดื่มสุราเป็นอาจิน ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุนอกจากผู้ตายกับจำเลย เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีอุดม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ต และพาร้อยตำรวจตรีอุดมไปยังบ้านที่เกิดเหตุพบผู้ตายนั่งอยู่ที่ปากประตูห้องนอนมีบาดแผลถูกยิงที่หน้าอกแต่ยังไม่ตาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยได้ร่วมกับคนร้ายในการยิงผู้ตายตามฟ้องหรือไม่ พยานสำคัญของโจทก์และโจทก์ร่วมได้แก่คำกล่าวของผู้ตายที่ได้บอกเล่าให้พยานโจทก์รวม 5 คน คือร้อยตำรวจตรีอุดมพนักงานสอบสวน นางสาวปิยดา นางพยาบาล นายวันชัยกับนายบรรจง เพื่อนผู้ตาย และนายบุ่นหาย พี่ผู้ตาย ฟังว่า จำเลยพาชายชู้ซึ่งเป็นตำรวจเข้าไปยิงผู้ตาย คำบอกเล่าของผู้ตายนั้นก่อนที่จะรับฟังเป็นหลักฐานต้องปรากฎว่าในเวลาที่ผู้ตายพูดเช่นนั้นผู้ตายคิดว่าตนจะตาย ไม่มีหวังว่าจะรอดชีวิต แต่โจทก์ไม่ได้สืบความข้อนี้ และกลับปรากฎจากคำเบิกความของร้อยตำรวจตรีอุดม ว่าขณะที่ผู้ตายพูดเช่นนั้น ผู้ตายมีอาการดี (น่าจะหมายความถึงอาการที่มีความหวังว่าจะรอดชีวิต) ดังนั้นย่อมถือไม่ได้ว่าผู้ตายได้พูดในเวลาที่หมดความหวังที่จะรอดชีวิตนางสาวปิยดาก็เบิกความว่า ผู้ตายไม่ได้บอกว่าตนเจ็บปวดมากน้อยเพียงใด ซึ่งแสดงไปในทางที่ว่าหากผู้ตายเจ็บปวดมากจนหมดหวังที่จะรอดชีวิตแล้วจริง ๆ ผู้ตายน่าจะพูดให้นางสาวปิยดาซึ่งเป็นผู้ทำการปฐมพยาบาลตนได้ทราบถึงอาการเจ็บปวดและแสดงความหมดหวังว่าจะรอดชีวิตให้เห็นบ้าง นายวันชัยเบิกความว่าผู้ตายไม่ได้บอกว่าตนใกล้จะตายแล้ว นายวันชัยดูอาการ (น่าจะหมายถึงท่าทาง) ของผู้ตายแล้วเห็นว่า ผู้ตายนาจะมีความหวังที่จะรอดชีวิต ซึ่งแสดงว่าขณะที่ผู้ตายพูดเช่นนั้นผู้ตายไม่รู้ตัวว่าจะตาย โดยเฉพาะนายบรรจงเบิกความว่าขณะที่ผู้ตายพูดเช่นนั้นผู้ตายไม่ได้บอกว่าตนจะตายแล้ว ซึ่งแสดงว่าในเวลาที่พูดเช่นนั้นผู้ตายไม่รู้สึกว่าตนต้องตาย คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งห้าคนดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฎว่าในขณะที่ผู้ตายพูดเช่นนั้นได้รู้ตัวว่าจะตาย จึงฟังลงโทษจำเลยไม่ได้”
พิพากษายืน

Share