คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซื้อกระจกจากบริษัท ก. แล้วขายต่อไปให้บริษัทม. อีกต่อหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้บริษัท ก. ได้เข้าทำสัญญากับผู้ใด หรือโจทก์ได้ขายกระจกแทนบริษัท ก.และหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์ กับบริษัท ก. ก็ระบุไว้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ในทางตัวการตัวแทนแต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โจทก์จึงมิได้เป็นนายหน้าหรือตัวแทนของบริษัท ก. การที่โจทก์ตกลงให้บริษัท ก. มีส่วนกำหนดตัวผู้ซื้อกระจกต่อจากโจทก์กับมีส่วนในการกำหนดราคาที่โจทก์จะขายต่อไป และโจทก์จะสั่งซื้อกระจกต่อเมื่อมีผู้สั่งกระจกจากโจทก์ ตลอดจนบริษัท ก. ส่งกระจกที่โจทก์สั่งซื้อตรงไปยังลูกค้าของโจทก์ หาเป็นสาระสำคัญทำให้โจทก์สิ้นสภาพจากการเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย กลายเป็นนายหน้าหรือ ตัวแทนไปแต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อกระจกแผ่นจากบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัดโดยตกลงกันว่าจะต้องขายให้แก่โจทก์แต่ผู้เดียว และร่วมกันเป็นผู้กำหนดราคาที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้จำหน่ายช่วง บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ตกลงจะขายกระจกแผ่นให้โจทก์ในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายแก่ผู้จำหน่ายช่วง 3 เปอร์เซ็นต์จำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าโดยถือว่าโจทก์ประกอบการค้าประเภทนายหน้าตัวแทน โจทก์เห็นว่าโจทก์ประกอบการค้าประเภทการขายของ ไม่ได้เป็นนายหน้าหรือตัวแทนจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่คณะกรรมการมีคำสั่งยกอุทธรณ์โจทก์ ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีอากรและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลย

จำเลยให้การว่า โจทก์ประกอบการค้าในลักษณะนายหน้าและตัวแทนการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินภาษีและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยตามคำฟ้อง

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าโจทก์ประกอบการค้าโดยเป็นนายหน้าหรือตัวแทนของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้มีบทบัญญัติให้ความหมายของการค้าประเภทนายหน้าและตัวแทนไว้ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด จะเป็นนายหน้าหรือตัวแทนหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งในเรื่องนายหน้านั้นจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลผู้หนึ่งตกลงจะให้บำเหน็จแก่นายหน้า เพื่อการที่นายหน้าได้ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาหรือจัดการให้ได้ทำสัญญา ส่วนตัวแทนเป็นเรื่องที่บุคคลผู้หนึ่งตกลงทำการแทนตามที่บุคคลอีกผู้หนึ่งซึ่งเรียกว่าตัวการมอบหมายให้ ตามข้อเท็จจริงที่รับกันและตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่าย ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำการชี้ช่องหรือจัดการให้บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ได้เข้าทำสัญญากับผู้ใด อันจะทำให้โจทก์เป็นนายหน้าของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด แต่อย่างใดไม่ในส่วนที่ว่าโจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด หรือไม่นั้นข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขายกระจกหรือกระทำการแทนบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด แต่อย่างใดหากแต่เป็นเรื่องที่โจทก์ซื้อกระจกจากบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด แล้วขายต่อไปให้บริษัทมิตซูบิซิ (ประเทศไทย) จำกัด อีกต่อหนึ่ง หนังสือสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด เอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้ในข้อ 3 ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่ใช่เป็นความสัมพันธ์ในทางตัวการตัวแทนแต่เป็นความสัมพันธ์ในระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ หากไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษาโจทก์จะทำการใด ๆ แทนบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ไม่ได้โจทก์จึงมิได้เป็นนายหน้าหรือตัวแทนของบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด แต่อย่างใดนอกจากนั้นศาลฎีกายังเห็นต่อไปอีกว่า โจทก์ย่อมมีเสรีภาพในการที่จะทำสัญญาซื้อกระจกกับบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ในรูปแบบ เงื่อนไข และมีข้อตกลงในรายละเอียดต่าง ๆ อย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่สัญญานั้นไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งโจทก์และบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ย่อมทำสัญญากันมีข้อตกลงในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความสะดวกในทางการค้าและได้รับผลประโยชน์มากที่สุดทั้งในรูปของผลกำไรและภาษี การที่โจทก์ตกลงให้บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัดมีส่วนในการกำหนดตัวผู้ซื้อกระจกต่อจากโจทก์ตลอดจนให้บริษัทกระจกไทยอาซาฮีจำกัด มีส่วนในการกำหนดราคาที่โจทก์จะขายต่อไปนั้น หาทำให้โจทก์ไม่เป็นผู้ซื้อไปแต่อย่างใดไม่ และการที่โจทก์จะสั่งซื้อกระจกจากบริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัดต่อเมื่อมีผู้สั่งซื้อกระจกจากโจทก์ก็ดี การที่บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัด ส่งกระจกที่โจทก์สั่งซื้อตรงไปยังลูกค้าของโจทก์ ตลอดจนการที่บริษัทกระจกไทยอาซาฮี จำกัดให้สินเชื่อแก่โจทก์ก็ดีหาเป็นสาระสำคัญที่จะทำให้โจทก์สิ้นสภาพจากการเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย กลายเป็นนายหน้าหรือตัวแทนไปแต่อย่างใดไม่

พิพากษายืน

Share