แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับ โจทก์ต่อมาจำเลยที่ 2 มอบเช็คให้ ส.นำไปแลกเงินจาก โจทก์ โดยมีจดหมายไปถึงพนักงานสินเชื่อของโจทก์ให้จัดการ เรื่องแลกเช็คกระดาษที่เขียนก็เป็นกระดาษแบบพิมพ์ของ จำเลยที่ 1 มีตราและชื่อโรงพยาบาลบนหัวกระดาษข้อความก็ระบุว่ากำลังขยายโรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ย่อมทำให้ โจทก์เข้าใจว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทรงและเงินที่แลกไปนั้นต้องนำไปใช้ในกิจการของ โรงพยาบาลจำเลยที่ 1 ดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ลงชื่อสลักหลังแต่ผู้เดียว โดยมิได้ประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวจำเลยที่ 2 ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึง ต้องรับผิด
สิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ในวงเงินทุกขณะที่นำมาขายไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท มีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ ๓ ได้จำนองที่ดินเป็นประกันด้วย ต่อมาจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ขายลดเช็คแก่โจทก์ ๓ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๑๕๐,๖๐๐ บาท เช็คทั้ง ๓ ฉบับเรียกเก็บเงินไม่ได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินหรือเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ศาลสั่งจำหน่ายคดี
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า การที่จะผูกพันจำเลยที่ ๑ จะต้องมีจำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ ๑ เช็คทั้งสามฉบับจำเลยที่ ๒ ลงชื่อสลักหลังและสั่งจ่ายในฐานะส่วนตัว ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิด เช็คขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดชำระให้โจทก์เป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้นำทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระ
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงขายลดตั๋วเงินให้โจทก์ในวงเงินไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงนายฮวดพนักงานสินเชื่อของโจทก์ให้จัดการเรื่องแลกเช็ค กระดาษที่จำเลยที่ ๒ เขียนถึงนายฮวดนั้นเป็นกระดาษแบบพิมพ์ของบริษัทจำเลยที่ ๑ มีตราและชื่อโรงพยาบาลมหานครของจำเลยที่ ๑ บนหัวกระดาษ การที่จำเลยที่ ๒ มอบเช็คให้นางสาวสุนันทารัตน์ไปแลกเงินกับโจทก์นั้นก็ได้ระบุตำแหน่งว่าเป็นสมุห์บัญชีโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ และบอกด้วยว่าจำเลยที่ ๒ กำลังขยายโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เช่นนี้ย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่าเช็คดังกล่าวเป็นเช็คที่โรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทรงและเงินที่แลกไปนั้นต้องนำไปใช้ในกิจการของโรงพยาบาลจำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่าเช็ค ๓ ฉบับที่นางสาวสุนันทารัตน์นำไปแลกเงินกับโจทก์เป็นเช็คที่บริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ทรง และเงินที่แลกไปนั้นได้นำไปใช้ในกิจการของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ ๑ลงชื่อสลักหลังแต่ผู้เดียวโดยมิได้ประทับตราบริษัทจำเลยที่ ๑ ตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ ๑ ก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่าจำเลยที่ ๑ รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ ๒ เชิดตัวจำเลยที่ ๒ ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ ๒ มอบเช็ค ๓ ฉบับดังกล่าวให้นางสาวสุนันทารัตน์ไปแลกเงินมาจากโจทก์ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในวงเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท และได้จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑
โจทก์ฟ้องคดีนี้อันเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินที่บริษัทจำเลยที่ ๑ ทำไว้แก่บริษัทโจทก์ จึงมีอายุความฟ้องร้อง ๑๐ ปี
พิพากษายืน