คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9661/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ซึ่งลักษณะเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดแล้ว อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 จึงไม่ต้องปรับบทตาม ป.อ. มาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 353 และ 354 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3, 4, 307, 308, 309, 311, 313, 334 และ 335 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินจำนวน 2,475,253,993.93 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6173/2542 หมายเลขแดงที่ 1481/2550 คดีหมายเลขดำ 6618/2542 หมายเลขแดงที่ 3928/2549 คดีหมายเลขดำที่ 7254/2543 หมายเลขแดงที่ 3947/2548 คดีหมายเลขดำที่ 6979/2543 หมายเลขแดงที่ 3974/2550 คดีหมายเลขดำที่ 10764/2542, 10765/2542 และ 6206/2543 ของศาลชั้นต้น คดีหมายเลขดำที่ 5443/2539 หมายเลขแดงที่ 213/2548 คดีหมายเลขดำที่ 5173/2540 หมายเลขแดงที่ 215/2548 คดีหมายเลขดำที่ 6382/2540 หมายเลขแดงที่ 217/2548 คดีหมายเลขดำที่ 2241/2541 หมายเลขแดงที่ 211/2548 คดีหมายเลขดำที่ 1827/2542, 4673/2542, 7182/2543, 8742/2543, 10661/2543, 4571/2544, 767/2546, 459/2547 และ 460/2547 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 10764/2542, 10765/2542 และ 6206/2543 ของศาลชั้นต้น โทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6979/2543 หมายเลขแดงที่ 3974/2550 ของศาลชั้นต้น โทษของจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5443/2539 หมายเลขแดงที่ 213/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2241/2541 หมายเลขแดงที่ 211/2548 คดีหมายเลขดำที่ 1827/2542, 4673/2542, 10661/2543, 4571/2544, 459/2547 และ 460/2547 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ และโทษของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8742/2543 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายซึ่งจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของผู้เสียหายขอเข้าว่าคดีแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 353 และ 354 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 309 และ 311 ประกอบมาตรา 313 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 6 กระทง ความผิดกระทงแรกและกระทงที่ 2 (ที่ถูก แต่ละกระทง) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 ประกอบมาตรา 313 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษกระทงแรกจำคุก 10 ปี และปรับ 21,302,193.68 บาท กระทงที่ 2 จำคุก 5 ปี และปรับ 925,600,000 บาท และลงโทษกระทงที่ 3 ถึงที่ 6 จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับรวม 4,003,605,794 บาท รวมจำคุก 35 ปี และปรับ 4,950,507,987.86 บาท แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) และปรับ 4,950,507,987.86 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 มาตรา 353 และ 354 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 309 และ 311 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 (ที่ถูก และจำเลยที่ 4) เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 รวม 6 กระทง ปรับกระทงละ 1,000,000 บาท เป็นเงิน 6,000,000 บาท ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดรวม 3 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 และหากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 213/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 215/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ 217/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ 3947/2548 และคดีหมายเลขแดงที่ 3974/2550 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงิน 2,475,253,993.93 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1)
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 และมาตรา 311 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 ปรับกระทงละ 1,000,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นเงิน 6,000,000 บาท หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 308 และมาตรา 309 (ที่ถูก พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 และมาตรา 309 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86) ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ออกจากสารบบความ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 ไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 สั่งให้รับหุ้นสามัญของโจทก์ร่วมเป็นหลักทรัพย์อนุญาตตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2530 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 334 บัญญัติให้หลักทรัพย์ที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โจทก์ร่วมจึงเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีมติแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2531 จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไป และจำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2534 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์ร่วมจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้วไม่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม แต่ยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานประจำของโจทก์ร่วม และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างบริษัทโจทก์ร่วมภายใต้การกำกับและอำนวยการของคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมตามลำดับ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างรองจากกรรมการผู้จัดการใหญ่ และปฏิบัติงานตามที่กรรมการผู้จัดการใหญ่มอบหมาย วันที่ 5 เมษายน 2538 จำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งนายราเกซ เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและติดต่อกับสถาบันการเงินหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารงานและวิเทศธนกิจ ให้คำปรึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจที่ปรึกษาในการครอบงำกิจการ ให้คำปรึกษาและดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กรรมการผู้จัดการใหญ่มอบหมาย แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยขอบเขตการอนุมัติสินเชื่อและการก่อภาระผูกพัน (พ.ศ.2537) หมวดที่ 2 หลักเกณฑ์และอำนาจการอนุมัติสินเชื่อและการก่อภาระผูกพัน ข้อ 3. กำหนดว่า ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อและก่อภาระผูกพัน มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อและก่อภาระผูกพันแก่บุคคล นิติบุคคล รายใดรายหนึ่งได้ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งมอบอำนาจอนุมัติสินเชื่อและก่อภาระผูกพัน (เฉพาะบุคคล) โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้…(2) สินเชื่อและการก่อภาระผูกพันที่มีที่ดิน หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินนั้นจดทะเบียนจำนองเต็มวงเงินเป็นหลักประกัน ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อและก่อภาระผูกพันได้ในวงเงินไม่เกินราคาประเมินและระเบียบธนาคารกรุงเทพ ฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยวิธีการปฏิบัติงานสำรวจ ตรวจสอบ และประเมินราคาหลักประกันสินเชื่อ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2537) หมวด 4 การสำรวจและประเมินราคาหลักประกันโดยนิติบุคคลภายนอก ข้อ 7. 3 กำหนดว่า รายงานการสำรวจและประเมินราคาหลักประกันการให้สินเชื่อ ต้องให้สำนักควบคุมสินเชื่อตรวจสอบและให้ความเห็นชอบราคาประเมินก่อน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีมติกำหนดว่า กรรมการผู้จัดการมีอำนาจการอนุมัติสินเชื่อดังนี้…ข) อนุมัติสินเชื่อที่มีหลักประกันเต็มจำนวนได้ไม่เกินรายละ 30,000,000 บาทผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อดังนี้…ข) อนุมัติสินเชื่อที่มีหลักประกันเต็มจำนวนได้ไม่เกินรายละ 5,000,000 บาท วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 คณะกรรมการของโจทก์ร่วมมีมติขยายอำนาจอนุมัติของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการให้มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อที่มีหลักประกันเต็มจำนวนได้ไม่เกิน 10,000,000 บาท วันที่ 27 มกราคม 2538 คณะกรรมการของโจทก์ร่วมมีมติให้สัตยาบันการอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวของผู้บริหารที่ได้รับอนุมัติไปแล้วใบแบบพิมพ์ “LEMDING DEAL SLIP” และให้กรรมการผู้จัดการใหญ่หรือกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน ได้ จำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อชั่วคราวระยะเวลาไม่เกิน 45 วัน ได้ ภายในวงเงินไม่เกินจำนวน 30,000,000 บาท วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีมติให้กรรมการผู้จัดการใหญ่หรือกรรมการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราววงเงินเกินกว่าจำนวน 30,000,000 บาท ขึ้นไป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อชั่วคราววงเงินไม่เกิน 30,000,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาของ “LENDING DEAL SLIP” เป็นไปตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่เกิน 180 วัน สำหรับสินเชื่อที่เป็นตัวเงิน (FUND) และไม่เกิน 1 ปี สำหรับสินเชื่อที่ไม่เป็นตัวเงิน (NON FUND) ของแต่ละรายการ แล้วให้ผู้อนุมัติที่ดำเนินการไปก่อนทำการขอสัตยาบันตามรายการที่ได้อนุมัติไปก่อนนั้นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติตามระดับอำนาจอนุมัติที่คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมกำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้อนุมัติให้ดำเนินการไปก่อน วันที่ 26 พฤษภาคม 2538 คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีมติให้กรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อไม่มีหลักประกันไม่เกินจำนวน 15,000,000 บาท และสินเชื่อวงเงินชั่วคราว (เรื่องด่วน) (LENDING DEAL SLIP) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน สำหรับสินเชื่อที่เป็นตัวเงิน (FUND) และระยะเวลาไม่เกิน 365 วัน สำหรับสินเชื่อที่ไม่เป็นตัวเงิน (NON FUND) โดยจำกัดวงเงิน ส่วนผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อไม่มีหลักประกันไม่เกิน 5,000,000 บาท และสินเชื่อวงเงินชั่วคราว (เรื่องด่วน) (LENDING DEAL SLIP) ระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน สำหรับสินเชื่อที่เป็นตัวเงิน (FUND) ไม่เกินจำนวน 30,000,000 บาท และระยะเวลาไม่เกิน 365 วัน สำหรับสินเชื่อที่ไม่เป็นตัวเงิน (NON FUND) ไม่เกินจำนวน 50,000,000 บาท วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ออกคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมถือปฏิบัติว่า การให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพันแก่ลูกค้ารายใหม่จะต้องเป็นกิจการที่มีพื้นฐานกิจการรองรับแท้จริง สำหรับรายที่มีวงเงินตั้งแต่จำนวน 30,000,000 บาท ขึ้นไปต้องให้คณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองในเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการ วัตถุประสงค์ ฐานะของลูกค้า หลักประกัน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้คืนและผลประโยชน์ที่โจทก์ร่วมจะได้รับในอัตราที่เหมาะสมและรวบรวมเรื่องราวการพิจารณาไว้ในแฟ้มบันทึกเรื่องราวของลูกหนี้รายตัวด้วย โจทก์ร่วมได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 รองประธานกรรมการและกรรมการอีกจำนวน 7 คน รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วในการประชุมครั้งที่ 3/2537 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 วันที่ 18 เมษายน 2538 ธนาคารแห่งประเทศไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ออกคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งไปยังประธานกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมถือปฏิบัติว่า การให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพันแก่กิจการใด กิจการนั้นจะต้องมีการประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้สินเชื่อที่ชัดเจนและเป็นจริง สำหรับรายที่มีเงินรวมกันจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป หรือลูกหนี้รายเดิมที่โจทก์ร่วมได้ให้สินเชื่อหรือก่อภาระผูกพันเพิ่มเติม เมื่อรวมกับภาระหนี้สินเดิมแล้วมีจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป ให้คณะกรรมการสินเชื่อ หรือคณะกรรมการบริหาร หรือคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองในเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการ วัตถุประสงค์ ฐานะของลูกค้า หลักประกัน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้คืนและผลประโยชน์ที่โจทก์ร่วมจะได้รับในอัตราที่เหมาะสมและเป็นผู้อนุมัติ รวมทั้งให้รวบรวมเรื่องราวการพิจารณาและอนุมัติไว้ในแฟ้มลูกหนี้รายตัวให้ครบถ้วน แล้วรายงานให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ให้สินเชื่อและก่อภาระผูกพัน รองประธานกรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการและกรรมการอีกจำนวน 6 คน รวมทั้งจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วในการประชุมครั้งที่ 5/2538 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2538 แต่ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 2 รับทราบคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายราเกซและจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2536 นายจิตตสร เป็นกรรมการตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2534 ถึงปัจจุบัน กรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2532 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2533 กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ได้ วันที่ 7 สิงหาคม 2533 ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2535 กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ได้ วันที่ 18 สิงหาคม 2535 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2536 นายราเกซหรือนายจิตตสรลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทจำเลยที่ 3 หรือจำเลยที่ 4 นายพิศาล นางสาวสุนันทา สองในสามคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ได้และวันที่ 6 พฤษภาคม 2536 ถึงปัจจุบัน กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2532 นายราเกซและจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X ในนามบริษัทจำเลยที่ 3 โดยมีเงื่อนไขว่า กรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทจำเลยที่ 3 มีอำนาจสั่งจ่ายเงินในเช็คหรือเอกสารอื่นสลักหลังเช็คหรือตั๋วเงิน ถ้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 3 มีเงินไม่พอจ่ายโจทก์ร่วมจะปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่ถ้าหากโจทก์ร่วมจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 3 ไป จำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่โจทก์ร่วมผ่อนผันจ่ายให้ไปนั้นคืนแก่โจทก์ร่วม โดยถือเสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นหนี้ต่อโจทก์ร่วมอยู่ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและหรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ร่วม และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นให้แก่โจทก์ร่วมในอัตราสูงสุดเท่าที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้นับแต่วันที่เป็นหนี้โจทก์ร่วมอยู่ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและหรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีตามวิธีการและประเพณีของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 3 ขอสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 30,000,000 บาท โดยมีบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 3-05XXX-X เป็นประกันหนี้ และวันที่ 17 ตุลาคม 2532 บริษัทไทยฟาร์ม โพรดิวส์ จำกัด จำนำหุ้นของบริษัทไรซ์ เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย จำกัด จำนวน 11,990 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้เป็นเงิน 1,190,000 บาท และหุ้นของบริษัทนมอีสาน จำกัด หรือบริษัทซี.ดี.ไอ. จำกัด จำนวน 99,996 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้เป็นเงิน 9,999,600 บาท เป็นประกันหนี้ของผู้จำนำและหรือจำเลยที่ 3 แก่โจทก์ร่วม วันที่ 14 พฤศจิกายน 2534 นายจิตตสรจำนำหุ้นของจำเลยที่ 3 จำนวน 500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้เป็นเงิน 25,000,000 บาท เป็นประกันหนี้ของผู้จำนำและหรือจำเลยที่ 3 และหรือบริษัทเพร็ซทีจ พรอพเพอร์ตี้ส์ จำกัด แก่โจทก์ร่วม วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 นายราเกซลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทจำเลยที่ 3 ยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X ในนามบริษัทจำเลยที่ 3 อีกบัญชีหนึ่ง ถ้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 3 มีเงินไม่พอจ่าย โจทก์ร่วมจะปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่ถ้าหากโจทก์ร่วมจ่ายเงินตามเช็คให้เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 3 ไป จำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่โจทก์ร่วมผ่อนผันจ่ายให้ไปนั้นคืนแก่โจทก์ร่วม โดยถือเสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นหนี้ต่อโจทก์ร่วมอยู่ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและหรือเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์ร่วม และยินยอมเสียดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้นแก่โจทก์ร่วมในอัตราสูงสุดเท่าที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้นับแต่วันที่เป็นหนี้ต่อโจทก์ร่วมอยู่ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและหรือเบิกเงินเกินบัญชีตามวิธีการและประเพณีของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 3 ขอวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 30,000,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 3 แจ้งยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X วันที่ 30 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 อนุมัติให้ยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2536 เป็นต้นไป บัตรผ่านรายการประเภทพิเศษระดับ 8 หมายเลข 0112 เจ หรือ 0112 หรือ 112 เป็นบัตรที่โจทก์ร่วมออกและมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อปี 2536 เพื่อใช้ในการอนุมัติสินเชื่อวงเงินชั่วคราวโดยไม่จำกัดจำนวน และบัตรผ่านรายการประเภทพิเศษระดับ 8 หมายเลข 0109 เจ หรือ 0109 หรือ 109 เป็นบัตรที่โจทก์ร่วมออกและมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อปี 2536 เพื่อใช้ในการอนุมัติสินเชื่อวงเงินชั่วคราวโดยไม่จำกัดจำนวน วันที่ 4 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2539 มีการใช้บัตรผ่านรายการประเภทพิเศษระดับ 8 หมายเลข 0112 เจ หรือ 0112 หรือ 112 และบัตรผ่านรายการประเภทพิเศษระดับ 8 หมายเลข 0109 เจ หรือ 0109 หรือ 109 อนุมัติสินเชื่อโดยการจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมที่มอบให้แก่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X และเลขที่ 001-1-02XXX-X เกินจำนวนเงินอยู่ที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันทั้งสองบัญชี รวมจำนวน 399 ครั้ง ดังรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง ครั้งที่ 1 ถึงที่ 97 ที่ 101 ถึง 125 และที่ 345 ถึงที่ 399 รวมจำนวน 177 ครั้ง เป็นการใช้บัตรผ่านรายการประเภทพิเศษหมายเลข 0112 เงินที่อนุมัติเป็นจำนวน 1,243,081,772.58 บาท ครั้งที่ 98 ถึงที่ 100 และที่ 126 ถึงที่ 344 รวมจำนวน 222 ครั้ง เป็นการใช้บัตรผ่านรายการประเภทพิเศษหมายเลข 0109 เงินที่อนุมัติเป็นจำนวน 984,796,974.41 บาท การอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวเป็นการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่มีวงเงิน ไม่มีสัญญา ไม่มีหลักประกัน และจำเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอโครงการต่อโจทก์ร่วมว่าจะนำเงินไปใช้ในกิจการใด วันที่ 25 มีนาคม 2539 โจทก์ร่วมมีคำสั่งให้ยกเลิกบัตรผ่านรายการทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 3 ออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันทั้งสองบัญชีชำระให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืม ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมของบริษัทต่าง ๆ ที่นายราเกซหรือกรรมการหรือพนักงานบริษัทโจทก์ร่วมหรือตัวแทนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเป็นลูกหนี้โจทก์ร่วม ชำระให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยแทนบุคคลหรือบริษัทต่าง ๆ ที่นายราเกซหรือกรรมการหรือพนักงานบริษัทโจทก์ร่วมหรือตัวแทนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเป็นลูกหนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว และมูลหนี้บางส่วนเป็นเงินกู้ยืมจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าวที่นำไปเข้าบัญชีเงินฝากของนายราเกซเพื่อชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนของโจทก์ร่วมในนามของบุคคลต่าง ๆ และชำระให้แก่ธนาคารอินโดสุเอซ สาขากรุงเทพ บุคคลและนิติบุคคลต่าง ๆ ที่นายราเกซหรือกรรมการหรือพนักงานบริษัทโจทก์ร่วมหรือตัวแทนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง วันที่ 22 มกราคม 2534 จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 10,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2534 จำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่จำเลยที่ 3 วันที่ 31 มีนาคม 2535 นายวันชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 100,000,000 บาท วันที่ 23 ธันวาคม 2534 และวันที่ 3 มีนาคม 2535 ผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 15,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีหลักประกันเป็นสถาบันการเงินอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน หุ้นในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาจำเลยที่ 3 เสนอเพิ่มหลักประกันเป็นที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1126 อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เนื้อที่จำนวน 58 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา ของบริษัทบี.โอ.เอส.เอส. คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่มีจำเลยที่ 4 และนางมุกดา เป็นกรรมการ กรรมการหนึ่งคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทดังกล่าวได้ วันที่ 30 กันยายน 2536 บริษัทคอลลิเออร์ส จาร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินราคาที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 117,600,000 บาท และจำเลยที่ 3 ขอใช้หลักทรัพย์ที่ดินแปลงดังกล่าวจดทะเบียนจำนองเป็นประกันในวงเงินจำนวน 150,000,000 บาท วันที่ 8 พฤศจิกายน 2536 นางมุกดาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทบี.โอ.เอส.เอส.คอนซัลแตนท์ จำกัด ในหนังสือมอบอำนาจให้นายอดิศักดิ์ เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นประกันหนี้ของบริษัทและหรือจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 150,000,000 บาท วันที่ 7 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 3 ขอต่ออายุสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเงิน 110,000,000 บาท ออกไปอีก 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2537 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2538 ครั้นวันที่ 8 มีนาคม 2537 จำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อโดยอนุมัติให้ต่ออายุสินเชื่อประเภทเงินกู้ระยะสั้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวนดังกล่าวได้ตามคำขอของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ทำหนังสือขอรับเงินกู้และจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่ออีกหลายรายการตามรายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อคิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 จำเลยที่ 3 เป็นหนี้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 1,995,200,000 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 6,602,897.09 บาท หนี้ตามภาระอาวัลจำนวน 462,800,000 บาท และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-02XXX-X จำนวน 10,651,096.84 บาท รวมเป็นเงิน 2,475,253,993.93 บาท แต่ไม่มีหนี้ค้างชำระตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1- 01XXX-X วันที่ 28 มิถุนายน 2539 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือถึงอธิบดีกรมตำรวจว่า จากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า นอกจากความผิดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมตามหนังสือที่ ธปท.ม.1325/2539 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2539 หนังสือที่ ธปท.ม.1618/2539 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2539 และหนังสือที่ ธปท.ม. 1641/2539 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2539 แล้ว ยังปรากฏว่าผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมมีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วม อันอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 353 ในกรณีการให้สินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีชั่วคราวและสินเชื่อตั๋วเงินแก่บริษัทต่าง ๆ ที่นายราเกซและนางสาวสุนันทามีส่วนเกี่ยวข้องโดยไม่มีหลักประกันอันควร จนเป็นเหตุให้มียอดหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2538 เป็นจำนวนสูงถึง 2,097,000,000 บาท ขอให้พนักงานสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวและดำเนินคดีแก่ผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในความผิดอาญาที่พบด้วย วันที่ 3 กรกฎาคม 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงและรายละเอียดการกระทำความผิดไปยังผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ โดยมอบอำนาจให้นายสาทร หรือนายอรุโณทัย ดำเนินการแทน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 2.400 ถึงข้อ 2.406 เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ในความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 308 และมาตรา 309 หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นว่าวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 และนายราเกซ โดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 3 ไม่ได้ประกอบธุรกิจใด แต่นำหลักประกันที่ประเมินราคาสูงเกินจริงมายื่นขอสินเชื่อและต่ออายุวงเงินกู้ระยะสั้นต่อโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ร่วม ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแล รักษา ครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม ได้กระทำผิดต่อหน้าที่ของตนโดยทุจริต อนุมัติสินเชื่อและต่ออายุวงเงินกู้ระยะสั้น ทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งไม่มีความสามารถชำระหนี้แต่ได้รับสินเชื่อไปโดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องโดยใช้คำว่า “เบียดบัง” และ “ทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สิน” แต่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายราเกซร่วมกันทำให้จำเลยที่ 3 ได้รับไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาในลักษณะสินเชื่อ จำเลยที่ 3 สามารถแสดงตนเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวและทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ร่วมเสียหาย โดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และนายราเกซร่วมกันกระทำการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งการประกอบอาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน มีบุคคลจำนวนมากร่วมกระทำการ โดยต่างคนต่างกระทำในส่วนของตน การบรรยายฟ้องไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำตรงตามตัวบทกฎหมาย แต่บรรยายให้เห็นชัดแจ้งว่ามีการกระทำต่าง ๆ กันของผู้ร่วมกระทำความผิด เมื่อรวมกันแล้วครบองค์ประกอบของความผิดตามบทบัญญัติในมาตรานั้น ๆ กล่าวคือ เบียดบัง เอาไป หรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์สินของนิติบุคคลให้เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สาม เพื่อทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ย่อมเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ศาลย่อมพิพากษาได้โดยไม่เกินไปกว่าที่กล่าวในฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 และความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308, 311 และ 313 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายอรุโณทัย นิติกร ธนาคารแห่งประเทศไทยมาเบิกความเป็นพยานว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2532 จำเลยที่ 3 โดยนายราเกซ และจำเลยที่ 4 ยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันต่อโจทก์ร่วม เลขที่ 001-1-01XXX-X วงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 30,000,000 บาท และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 3 โดยนายราเกซยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันต่อโจทก์ร่วม เลขที่ 001-1-02XXX-X วงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 30,000,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 3 แจ้งขอยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X วันที่ 30 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 อนุมัติยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวโดยมียอดหนี้ค้างชำระจำนวน 1,982,742.95 บาท ขณะจำเลยที่ 2 ใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ อนุมัติสินเชื่อจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-01XXX-X จึงเป็นเวลาภายหลังจากสัญญาวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีถูกยกเลิกแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อที่มีวงเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป ตามสำเนาหนังสือแจ้งคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 184/2537 และ 783/2538 นายวีรวุฒิ รองผู้อำนวยการสำนักกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า คำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นเอกสารลับมาก ส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีการลงทะเบียนรับ นายกรีธา หัวหน้าส่วนเลขานุการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า ไม่มีการส่งคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยมาให้ส่วนเลขานุการ แต่ตามสำเนาหนังสือแสดงการรับทราบของคณะกรรมการโจทก์ร่วมมีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 รับทราบคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 และวันที่ 26 พฤษภาคม 2538 ตามลำดับ นายสาคร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ครั้งที่ 3/2537 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ชี้แจงหนังสือแจ้งคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 184/2537 ให้คณะกรรมการรับทราบ ซึ่งจำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย หม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร กรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ครั้งที่ 3/2537 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 และครั้งที่ 5/2538 วันที่ 26 พฤษภาคม 2538 จำเลยที่ 1 แจ้งผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงคร่าว ๆ ไม่ได้พูดถึงคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ตามคำสั่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อวงเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป ดังนั้น ในการประชุมครั้งที่ 5/2538 คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมอนุมัติขยายอำนาจอนุมัติสินเชื่อแก่กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่โดยไม่ทราบคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว นายสำรอง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า ตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 184/2537 ผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อที่มีวงเงินจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป โดยไม่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารบริษัทโจทก์ร่วม การอนุมัติให้จ่ายเงินตามเช็คของลูกค้าถือเป็นสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชี ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ครั้งที่ 1/2538 วันที่ 27 มกราคม 2538 จำเลยที่ 1 แจ้งเพียงว่าผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอย่างไร คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมไม่ทราบคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่184/2537 จึงอนุมัติขยายอำนาจของผู้บริหารในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวและให้สัตยาบันการอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวที่ผู้บริหารดำเนินการไปก่อนหน้านั้น ซึ่งการให้สัตยาบันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่ให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์อนุมัติสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชีได้จำนวนไม่เกินรายละ 30,000,000 บาท เป็นคำสั่งที่มีไปยังธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องปรับสินเชื่อกู้เบิกเงินเกินบัญชีของลูกหนี้ที่มีอยู่เดิมเกินจำนวน 30,000,000 บาท เป็นวงเงินกู้ระยะสั้น สำหรับลูกหนี้โจทก์ร่วมรายจำเลยที่ 3 มีหนี้วงเงินกู้ระยะสั้นอยู่เดิมจำนวน 2,068,000,000 บาท และหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 389,000,000 บาทเศษ วันที่ 27 มีนาคม 2539 จึงต้องปรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นวงเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 392,000,000 บาท ซึ่งครอบคลุมหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมด และจำเลยที่ 3 มาเปลี่ยนสัญญาเป็นสัญญาขอรับเงินกู้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน นายวิชัย สมุห์บัญชีบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-01XXX-X และ 001-1-02XXX-X ของจำเลยที่ 3 ทั้งสองบัญชีไม่มีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี การใช้บัตรผ่านรายการของผู้บริหารอนุมัติจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 ถือเป็นการให้สินเชื่อชั่วคราวเบิกเงินเกินบัญชี โดยใช้บัตรผ่านรายการตั้งวงเงินเท่ากับที่ขอเบิกเกินบัญชีจัดทำแบบคัตฟอร์ม แนบไปให้เจ้าของบัตรผ่านรายการดู จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คหลายฉบับเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยแทนบริษัทอื่น ๆ หลายบริษัท ตามสำเนาเช็ค และสำเนาบัญชีกระแสรายวัน จำเลยที่ 2 ใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ อนุมัติจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 จำนวน 222 ครั้ง นายบดี หัวหน้าหน่วยกระแสรายวันบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า เมื่อมีการยกเลิกวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีเลขที่ 001-1-01XXX-X เงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็คของจำเลยที่ 3 นางสาวสุวิมล กับนายพราวประยูร นำบัตรผ่านรายการ หมายเลข 112 เจ ของจำเลยที่ 1 หรือหมายเลข 109 เจ ของจำเลยที่ 2 มารูดตั้งวงเงินชั่วคราว แล้วโจทก์ร่วมจ่ายเงินตามเช็คให้ ตามสำเนาเช็ค 35 แฟ้ม สำหรับสำเนาเช็ค จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายให้จำเลยที่ 2 จำนวนเงิน 3,569.73 บาท เรียกเก็บจากบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X วันที่ 28 กรกฎาคม 2538 โดยใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ อนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวไว้จำนวน 1,373,163.69 บาท ตามแบบคัตฟอร์มเพื่อจ่ายเงินตามเช็คฉบับอื่นของจำเลยที่ 3 ด้วย นางสาวนงลักษณ์ พนักงานรับฝาก – ถอนเงินบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า โดยทั่วไปไม่สามารถทำรายการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 ได้เพราะไม่มีเงินในบัญชี แต่นางสาวสุวิมลหรือนายพราวประยูรจะนำบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 มารูดตั้งวงเงินชั่วคราวเสมือนการอนุมัติสินเชื่อ พยานจึงสามารถทำรายการได้ ตามแบบคัตฟอร์ม ช่อง “Old Temp O/D” คือยอดหนี้เดิม ช่อง “Amount” คือวงเงินที่ตั้งขึ้นใหม่ ช่อง “New Temp O/D” คือ ยอดหนี้รวมหลังจากตั้งวงเงินชั่วคราวใหม่แล้ว บัตรผ่านรายการนี้เจ้าของบัตรต้องเก็บรักษาเอง การใช้บัตรผ่านรายการเสมือนเจ้าของบัตรลงลายมือชื่อเอง หากเกิดความเสียหายโดยมีผู้อื่นนำบัตรไปใช้เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบ นางสาวสุวิมล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทของนายราเกซ อยู่ในความดูแลของฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ พยานกับนายพราวประยูรได้รับมอบหน้าที่นำบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำรายการ ซึ่งถือว่าเจ้าของบัตรอนุมัติสินเชื่อ หลังจากใช้บัตรผ่านรายการทำรายการเสร็จแล้วก็นำบัตรพร้อมแบบคัตฟอร์มไปมอบให้นายราเกซซึ่งเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายราเกซในที่สุดถูกย้ายออกไป ตามรายการบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X ของจำเลยที่ 3 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมจำนวน 397,402,194.67 บาท และตามรายการบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X ของจำเลยที่ 3 วันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้โจทก์ร่วมจำนวน 1,118,968,081.66 บาท แต่วันที่ 29 ธันวาคม 2538 โจทก์ร่วมโดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 กู้เงินระยะสั้นจำนวน 1,531,000,000 บาท เพื่อให้จำเลยที่ 3 นำไปชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโดยให้เหตุผลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีหลักเกณฑ์ว่าวงเงินเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนบริษัทละไม่เกิน 30,000,000 บาท จำเลยที่ 3 นำเงินกู้ระยะสั้นจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X แล้วถอนออกไปจำนวน 1,127,597,000 บาท นำเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X ทำให้บัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-1XXX-X จำเลยที่ 3 คงเป็นเจ้าหนี้โจทก์ร่วม 6,000,805.33 บาท และบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหนี้โจทก์ร่วม จำนวน 8,628,918.34 บาท ซึ่งไม่ได้เป็นการชำระหนี้แท้จริง แต่เป็นการเปลี่ยนประเภทหนี้เท่านั้น นายเกษม ผู้อำนวยการฝ่ายการพนักงานบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า นายราเกซ เป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ร่วมมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงาน นายชาญชัย หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคอมพิวเตอร์บริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า บัตรผ่านรายการมีอักษร เจ หมายความว่า ผู้ถือบัตรเป็นพนักงานระดับ 8 คือผู้บริหารระดับสูง เมื่อมีการใช้บัตรผ่านรายการแล้วจะมีการทำแบบคัตฟอร์ม ระบุหมายเลขบัตรที่ใช้อนุมัติ และทำรายงานประจำวันระบุหมายเลขบัตรและรายการทางการเงิน เมื่อมีการใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติตั้งวงเงิน เจ้าของบัตรต้องรับผิดชอบการตั้งวงเงินดังกล่าว นายจัตุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโจทก์ร่วมเบิกความว่า การใช้บัตรผ่านรายการถือว่าเจ้าของบัตรเป็นผู้อนุมัติทำรายการ นายเศกสรร ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยเบิกความว่า จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทโฮลดิ้ง คัมพานี ประกอบกิจการลงทุนในบริษัทอื่น แต่ไม่ปรากฏว่ามีการลงทุนซื้อหุ้นบริษัทอื่น เพียงนำเงินชำระหนี้แทนบริษัทในเครือเท่านั้น มีนายราเกซและจำเลยที่ 4 ร่วมเป็นกรรมการบริษัท จำเลยที่ 2 มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเช็คที่เปิดบัญชีไว้กับโจทก์ร่วม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งประธานกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่า บริษัทในเครือนายราเกซมีผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมเข้ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่หลักประกันไม่คุ้มหนี้ มีความเสี่ยงสูง ให้โจทก์ร่วมดำเนินแก้ไขโดยการพิจารณาให้สินเชื่อให้คณะกรรมการสินเชื่อและคณะกรรมการโจทก์ร่วมพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงนามทราบหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงให้สินเชื่อแก่จำเลยที่ 3 ต่อไป สินเชื่อประเภทหนึ่งคือการกู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งจำเลยที่ 3 ขอยกเลิกวงเงินเดือนสิงหาคม 2536 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 รายละเอียดการใช้บัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำนวนหนี้รวมของจำเลยที่ 3 เกิน 30,000,000 บาท เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีอำนาจอนุมัติสินเชื่อได้ตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ 184/2537 การใช้บัตรผ่านรายการ หมายเลข 109 เจ ของจำเลยที่ 2 อนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 ตามฟ้องคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 รวมจำนวน 222 ครั้ง รวมเป็นเงิน 984,796,974.41 บาท เช็คดังกล่าวจำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้แทนบริษัทในเครือนายราเกซ ได้แก่ ชำระหนี้แทนบริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด ที่กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 2 ร่วมเป็นกรรมการบริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด ชำระหนี้แทนนายสุชาติ บริษัทแม่สอดพนากิจ จำกัด และบริษัทซีล่าร์ กรุ๊ป จำกัด ที่กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้แทนบริษัทบิลดิ้ง แวลู จำกัด บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด บริษัทเอพีจี พับลิชชิ่งจำกัด และนางสาวสุนันทา น้องภริยานายราเกซ ที่กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้แทนลูกหนี้จำนวน 15 ราย ที่กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด (มหาชน) ชำระหนี้แทนนายราเกซที่กู้ยืมเงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจำเลยที่ 2 ร่วมเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) รายชื่อบริษัทในเครือนายราเกซ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังออกเช็คของโจทก์ร่วมหลายฉบับชำระหนี้แทนบริษัทในเครือนายราเกซที่กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมเองอีกด้วย ชำระหนี้แทนบริษัทในเครือนายราเกซที่กู้ยืมเงินธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด ทั้งมีเช็คที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายแก่บุคคลอื่นอีกหลายฉบับ นางสาวสุจินดา นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเบิกความว่า จำเลยที่ 3 มีนายราเกซและจำเลยที่ 4 ร่วมเป็นกรรมการ บริษัทในเครือนายราเกซ นางสาวเอื้อยจิตต์ ผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ขอให้พยานลงชื่อเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 และลงชื่อโอนลอยหุ้นให้จำเลยที่ 4 ไว้ด้วย นางสาวกัณฐิกาหรืออรวรรณ ผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 ขอให้พยานลงชื่อเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 นางสาววิมล เบิกความว่า เพื่อนร่วมงานชักชวนให้ลงชื่อเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 3 แต่ไม่เคยเข้ายุ่งเกี่ยวกับบริษัท นายสิทธิชัย ผู้สอบบัญชีบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการกู้เงินจากธนาคารและบริษัทอื่น แล้วนำมาปล่อยกู้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องและซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล นายปรีชาพล กรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า นั่งทำงานอยู่ที่บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด ไม่เคยเข้าไปที่บริษัทจำเลยที่ 3 นางสาวบุณยานุช หัวหน้าฝ่ายการเงินบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า นายราเกซมีบริษัทในเครือจำนวนกว่า 60 บริษัท จำเลยที่ 3 มีรายได้หลักจากการกู้เงินโจทก์ร่วม พยานได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 4 ให้เข้าเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ด้วย แต่จำเลยที่ 4 ไม่ได้มีอำนาจแท้จริง นางสันทนา กรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 แต่ไม่มีอำนาจบริหาร ยังคงนั่งทำงานที่บริษัทบิลดิ้งแวลู จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับจำเลยที่ 3 นางสาวลำเจียก พนักงานบัญชีบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 ด้วย แต่นายราเกซกับจำเลยที่ 4 มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค นางสาวนิตยา เลขานุการจำเลยที่ 4 เบิกความว่า มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 แต่ไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท พยานลงชื่อขอรับกู้เงิน ตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ซึ่งรับคำสั่งจากนายราเกซอีกทอดหนึ่ง นายพิศาล พนักงานบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีตำแหน่งใดในบริษัทจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 ชักชวนให้พยานลาออกจากราชการมาทำงานกับจำเลยที่ 3 นายราเกซให้พยานร่วมเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 รายงานการประชุมคณะกรรมการวันที่ 26 มีนาคม 2539 ไม่มีการประชุมจริง ผู้มีอำนาจแท้จริงคือนายราเกซ นายเกรียงศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการสำนักกฎหมายบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรือง จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมจำนวน 24 รายการ เพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยแทนบริษัทและบุคคลได้แก่ บริษัทเอพีจี พับลิชซิ่ง จำกัด บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด บริษัทบิลดิ้ง แวลู จำกัด และนางสาวสุนันทา ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรือง จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินตามเช็คดังกล่าวแล้ว นายอนุชา รองผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมชำระค่าธรรมเนียมอาวัลตั๋วแลกเงินแทนบริษัทฟาร์ม เวนเจอร์ซ จำกัด ชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์แทนบริษัทไทยเทเลคอมเซ็บส์ จำกัด ชำระหนี้ตั๋วเงินรับแทนนายราเกซ ชำระค่าจองลูกหุ้นของโจทก์ร่วมแทนบริษัทฟาร์ม เวนเจอร์ซ์ จำกัด ชำระหนี้ค่าธรรมเนียมอาวัลตั๋วแลกเงินของบริษัทเอเชี่ยนแปฟิค กรุ๊พ จำกัด บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด จำเลยที่ 3 บริษัทเมอร์เจอส์ แอนด์ แอ๊ควิซิชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ชำระค่าดอกเบี้ยตั๋วเงินรับแทนบริษัทแมเนจเม้นท์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทเพร็ซทีจ พรอตเพอร์ตี้ส์ จำกัด และนายราเกซ ชำระค่าธรรมเนียมรับรองตั๋วเงินแทนบริษัทไทยแมเนจเม้นท์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด บริษัทซีล่าร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัทไทย ฟาสต์ฟู๊ด จำกัด นางสาวรัชดา หัวหน้าพิธีการสินเชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คของโจทก์ร่วมหลายฉบับชำระค่าดอกเบี้ยแทนนายสุชาติ บริษัทซีลาร์ กรุ๊ป จำกัด และบริษัทแม่สอดพนากิจ จำกัด ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) นายธนะพงษ์ ผู้จัดการส่วนสินเชื่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีธนา จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า นายสุชาติ เป็นลูกหนี้เงินกู้จำนวน 117,000,000 บาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีโจทก์ร่วมเป็นผู้อาวัล บริษัทซีล่าร์ กรุ๊ป จำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้จำนวน 115,000,000 บาท โดยมีนายสุชาติ ค้ำประกันและโจทก์ร่วมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน บริษัทแม่สอดพนากิจ จำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้จำนวน 128,000,000 บาท โดยมีนายสุชาติ ค้ำประกันและโจทก์ร่วมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน นายประเสริฐ กรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด เป็นลูกหนี้เงินกู้จำนวน 90,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จำนำหุ้นของบริษัทโจทก์ร่วมเป็นประกัน จำเลยที่ 2 มีอำนาจร่วมลงนามทำการแทนบริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 3 ออกเช็คของโจทก์ร่วมสั่งจ่ายเงินหลายฉบับชำระค่าดอกเบี้ยแทนบริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด ซึ่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์คาเธ่ย์ไฟน์แนนซ์ จำกัด (มหาชน) ออกใบรับเงินให้ นายวิชิต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายค้าตราสารหนี้ ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ออกเช็คของโจทก์ร่วมสั่งจ่ายเงินหลายฉบับเพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทแมเนจเม้นท์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทเอ็คคลูซีฟ อีแวลูชั่น จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทสวัสดียูเนี่ยน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทพีค ปรินซีพัล แมเนจเม้นท์ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทไพร์ม พรอพเพอร์ตี้ เมเนจเมนท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทเทรซเซอรี่แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทอาร์ เอส กรุ๊ป จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทเทค อ๊อฟ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทสวัสดียูเนี่ยน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทจ๊อยท์ ซินดิเกต จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทท็อป ท็อป จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทนิว ไพโอเนียร์ โพรเจ็คท์ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทเพร็ซทีจ พรอพเพอร์ตีส์ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทนอร์ทเทิร์น เวนเจอร์ส จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทพรอบเพอร์ตี้ โซลูชั่นส์ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทเอเชี่ยน แปซิฟิค กรุ๊ฟ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทเมอร์เจอส์ แอนด์ แอ๊ควิซิชั่นส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทเฟิซ์ท โฮมส์ แอนด์ กอล์ฟ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทแม่ฮ่องสอนเวนเจอร์ส จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินที่จำเลยที่ 3 ออกให้แก่บริษัทกาญจนบุรี โปรเจ็คส์ จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทซีล่าร์ กรุ๊ป จำกัด ที่ออกให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองฉอดค้าไม้ แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เพื่อชำระค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงินของบริษัทแคนาเดี่ยน ดอลลาร์ จำกัด ที่ออกให้แก่บริษัทกู๊ด พรอสเพ็คท์ส จำกัด แล้วนำมาขายลดให้ธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เช็คที่จำเลยที่ 3 ออกสั่งจ่ายเงินทั้งหมดธนาคารอินโดสุเอซ จำกัด เรียกเก็บเงินได้ นางพรทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ออกเช็คของโจทก์ร่วมสั่งจ่ายเงินจำนวน 9 ฉบับ เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยแทนนายราเกซ ซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้จำนวน 100,000,000 บาท ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) ฝ่ายจำเลยมีตัวจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 2 เคยทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย การใช้บัตรผ่านรายการต้องลงลายมือชื่อเจ้าของบัตร ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2537 จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม แล้วนายสำรอง เข้าดำรงตำแหน่งแทน ส่วนจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินงานของฝ่ายธุรการ ฝ่ายการพนักงาน และฝ่ายการบัญชี ไม่มีอำนาจหน้าที่ในฝ่ายสินเชื่อ ไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ จำเลยที่ 2 คืนบัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ แก่นายสำรองตั้งแต่กลางปี 2537 แบบคัตฟอร์มไม่มี “Lending Slip” และไม่มีลายมือชื่อผู้อนุมัติ ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ครั้งที่ 1/2538 มีมติให้สัตยาบันการอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราว และการประชุมครั้งที่ 4/2538 มีมติมอบอำนาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวตามลำดับชั้น โดยมีการระบุชื่อผู้บริหารในการประชุมครั้งที่ 5/2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีชื่อเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ นางสาวสุวิมลเบิกความตอบคำถามค้านว่า พยานไม่เคยเห็นจำเลยที่ 2 มอบบัตรผ่านรายการให้นายราเกซ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 211/2548 จำเลยที่ 1 ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมว่ายกเลิกบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2538 ตามรายงานการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ร่วมตั้งบริษัทขึ้นเพื่อเข้าซื้อกิจการของลูกหนี้ที่มีหนี้เสียโดยให้กรรมการบริหารถือหุ้นสำรองไว้ เพื่อจะได้เข้าซื้อกิจการของลูกหนี้ได้ทันและจำเลยที่ 2 เข้าเป็นกรรมการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะเป็นผู้แทนของโจทก์ร่วมที่ต้องเข้าถือหุ้น ตามคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยที่ห้ามอนุมัติสินเชื่อวงเงินเกินจำนวน 30,000,000 บาท ขึ้นไป นายสาคร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า ปี 2538 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แต่เป็นตำแหน่งลอย ไม่มีสายงานในความรับผิดชอบหรือบังคับบัญชา ฝ่ายที่มีหน้าที่อนุมัติสินเชื่อคือฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจ ฝ่ายวาณิชธนกิจ และฝ่ายการธนาคาร จำเลยที่ 1 ไม่เคยแจกคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทราบ คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเพิ่งทราบคำสั่งดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 16/2539 นายพชร ประธานกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีคำสั่งยกเลิกบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 วันที่ 25 ธันวาคม 2538 และแจ้งคณะกรรมการทราบในการประชุมครั้งที่ 1/2539 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 นางพจนีย์ เลขานุการจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ช่วงที่จำเลยที่ 2 มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อ จำเลยที่ 2 จะนำบัตรผ่านรายการไปรูดด้วยตนเอง แต่ปี 2534 ถึงปี 2535 จำเลยที่ 2 ถูกลดอำนาจลงให้ไปดูแลงานที่ไม่สำคัญ เช่น ฝ่ายธุรการ และระหว่างปี 2536 ถึงปี 2538 จำเลยที่ 2 ได้รับคำสั่งให้ไปแก้ไขปัญหาหนี้เสียของบริษัทลูกหนี้ นายวัลลภ ทนายความจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ระหว่างปี 2537 ถึงปี 2538 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายให้ไปแก้ไขหนี้เสียของบริษัทเอิร์ท อินดัสเตรียล จำกัด จำเลยที่ 2 ได้ขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยรุ่งเรือง จำกัด (มหาชน) เพื่อนำมาซื้อหุ้นของบริษัทดังกล่าว ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความว่า ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศธนกิจมีหน้าที่ดูแลสินเชื่อเพื่อครอบงำกิจการจึงจำเป็นต้องใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อ จำเลยที่ 1 ตั้งนายราเกซเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในเงินตราต่างประเทศและแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้รายใหญ่ตั้งแต่ปี 2536 จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับผิดชอบดูแลฝ่ายสินเชื่อ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกฟ้องเกี่ยวกับการใช้บัตรผ่านรายการ ซึ่งระบุว่ามีบุคคลอื่นนำบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 ไปใช้ นายกิตติพร ทนายความจำเลยที่ 1 และที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการลงทุนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กับบริษัทในเครือตามสำเนางบดุล เห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งผลการตรวจสอบให้โจทก์ร่วมทราบแล้วว่า ลูกหนี้รายบริษัทในเครือนายราเกซ มีผู้บริหารโจทก์ร่วมเข้ามีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงสูงเพราะหลักประกันไม่คุ้มหนี้ ให้โจทก์ร่วมทำการแก้ไข จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทแห่งหนึ่งในเครือนายราเกซ โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงบริษัทโจทก์ร่วมคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คของจำเลยที่ 3 ที่เปิดบัญชีไว้กับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 3 มีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ร่วม 2 บัญชี เลขที่ 001-1-01XXX-X และ 001-1-02XXX-X วงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนบัญชีละ 30,000,000 บาท แต่วันที่ 30 สิงหาคม 2536 จำเลยที่ 1 อนุมัติยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีสำหรับบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-01XXX-X ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบการดำเนินงานของโจทก์ร่วมมาโดยตลอด พบว่าสถานะความมั่นคงมีปัญหา จึงออกคำสั่งที่ 184/2537 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 และคำสั่งที่ 783/2538 วันที่ 18 เมษายน 2538 มีผลทำให้ผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อรายที่มีวงเงินรวมกันจำนวนตั้งแต่ 30,000,000 บาท ขึ้นไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งสำเนาคำสั่งให้คณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทราบ เพียงแจ้งผลการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยคร่าว ๆ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมเท่านั้น ทำให้คณะกรรมการโจทก์ร่วมไม่ทราบคำสั่งดังกล่าว และมีมติขยายอำนาจอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้บริหารบริษัทโจทก์ร่วมตามที่จำเลยที่ 1 เสนอ ซึ่งไม่มีผลโดยชอบ เพราะฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2538 มีการใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ ของจำเลยที่ 2 ดำเนินการอนุมัติตั้งวงเงินสินเชื่อดังกล่าวเพื่อจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 ถึงจำนวน 222 ครั้ง รวมเป็นเงิน 984,796,974.41 บาท ทั้งที่จำเลยที่ 3 ยกเลิกวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วและมีเงินในบัญชีไม่พอจ่าย โดยเช็คฉบับหนึ่งจำเลยที่ 3 ออกให้จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเงินจำนวน 3,569.73 บาท โดยใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ อนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวจำนวนถึง 1,373,163.69 บาท ตามแบบคัตฟอร์ม เพื่อจ่ายเงินตามเช็คฉบับอื่นของจำเลยที่ 3 ด้วย เมื่อรวมกับการใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 112 เจ ของจำเลยที่ 1 แล้วมีการอนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวถึงจำนวน 399 ครั้ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X จำนวน 397,402,194.67 บาท และ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 001-1-02XXX-X จำนวน 1,118,968,081.66 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ยักย้ายปิดบังเพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย โดยขอให้โจทก์ร่วมอนุมัติให้จำเลยที่ 3 กู้เงินระยะสั้นจำนวน 1,531,000,000 บาท นำเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X แล้วถอนออกจำนวน 1,127,597,000 บาท นำเข้าบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X ทำให้จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหนี้โจทก์ร่วมในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X จำนวน 6,000,805.33 บาท และในบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-02XXX-X จำนวน 8,628,918.34 บาท อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 3 ไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอย่างแท้จริง คงเป็นเพียงการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น เช็คทั้งหมดของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายชำระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมอาวัลตั๋วแลกเงิน ค่ารับรองตั๋วเงินค่าส่วนลดต่ออายุตั๋วแลกเงิน ค่าซื้อขายหลักทรัพย์ และชำระหนี้ตั๋วเงินแทนบริษัทในเครือนายราเกซ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น นายสุชาติ นางสาวสุนันทา รวมทั้งตัวนายราเกซและจำเลยที่ 2 เองด้วย บรรดาผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความสอดคล้องกันว่าถูกขอชื่อไปร่วมเป็นผู้ก่อตั้งหรือกรรมการบริษัทจำเลยที่ 3 เท่านั้น ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการของจำเลยที่ 3 ไม่เคยมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท มีนายราเกซเป็นผู้ควบคุมสั่งการทั้งสิ้น โดยเฉพาะนางสาวบุณยานุช หัวหน้าฝ่ายการเงินบริษัทจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3 มีรายได้หลักจากการกู้เงินโจทก์ร่วม สอดคล้องกับชื่อจำเลยที่ 3 ว่า บริษัทซัพพอร์ต ซิสเต็มส์ จำกัด หมายความว่า สนับสนุนระบบ ได้แก่ ช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ในเครือนายราเกซ โดยการออกเช็คชำระหนี้แทนบริษัทในเครือและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยไม่ได้ประกอบกิจการเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งตามรายการบัญชีกระแสรายวันทั้งบัญชีกระแสรายวันเลขที่ 001-1-01XXX-X และเลขที่ 001-1-02XXX-X จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 จำนวน 397,402,194.67 บาท และวันที่ 28 ธันวาคม 2538 จำนวน 1,118,968,081.66 บาท ตามลำดับ โดยการใช้บัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติวงเงินสินเชื่อชั่วคราวจ่ายเงินตามเช็คไปเรื่อย ๆ แทบไม่ปรากฏว่ามีการนำเงินเข้าชำระหนี้ จำเลยที่ 2 นำสืบต่อสู้ว่า ช่วงเวลาการใช้บัตรผ่านรายการ หมายเลข 109 เจ ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อใด ๆ เพราะพ้นจากตำแหน่งกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการดำเนินงานของฝ่ายธุรการ ฝ่ายการพนักงาน และฝ่ายการบัญชี จำเลยที่ 2 คืนบัตรผ่านรายการดังกล่าวต่อนายสำรอง ตั้งแต่กลางปี 2537 นางสาวสุวิมลกับนายพราวประยูร เป็นผู้นำบัตรผ่านรายการไปใช้ทำรายการตามที่โจทก์ฟ้อง อย่างไรก็ดี นายสำรองเบิกความว่า แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับผิดชอบดูแลฝ่ายสินเชื่อ แต่จำเลยที่ 1 ยังมอบหมายให้ดูแลลูกหนี้เฉพาะราย และไม่เบิกความแน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 นำบัตรผ่านรายการมาคืนเมื่อใด คงเบิกความตอบคำถามค้านเพียงว่า เมื่อได้รับบัตรผ่านรายการมาแล้วได้บรรจุใส่ซองให้เลขานุการพยานนำไปมอบแก่เลขานุการจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นปรากฏว่ายังมีการนำบัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 ไปใช้ทำรายการอนุมัติตั้งวงเงินชั่วคราวให้สินเชื่อจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 กระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ประธานกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีคำสั่งให้ยกเลิกบัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ และรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมทราบ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2539 แสดงว่าช่วงเวลาเกิดเหตุคดีนี้ บัตรผ่านรายการของจำเลยที่ 2 ยังใช้อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวได้ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อดังอ้าง จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 3 ในบัญชีกระแสรายวันที่เปิดไว้กับโจทก์ร่วม โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้บริหารระดับสูงบริษัทโจทก์ร่วม แต่มีส่วนร่วมเป็นคู่ค้ากับโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เป็นธุรกิจเพื่อประโยชน์แก่การเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ตลอดจนให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินกับธนาคาร มีความสำคัญต่อสถานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมทั้งผู้ฝากเงิน จึงมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติควบคุมในขณะเกิดเหตุ ได้แก่ พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ปัจจุบันได้แก่ พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับใบอนุญาต ต้องประกอบธุรกิจตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่ทำหน้าที่บริหาร ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแลและมีบทกำหนดโทษ ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ต้องมีความรับผิดชอบต่อประโยชน์และสถานะทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่อผู้ฝากเงิน ต่อลูกค้า ต่อผู้ถือหุ้น และต่อประชาชนเป็นส่วนรวม จำเป็นต้องมีมาตรฐานการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและความระมัดระวังอย่างสูง จำเลยที่ 2 เคยทำงานธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายปี ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม ย่อมมีความสามารถและความระมัดระวังอย่างสูงในการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2534 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2537 ช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด ที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คชำระค่าดอกเบี้ยแทนด้วย จำเลยที่ 2 อ้างว่า ต้องไปเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 3 เพราะโจทก์ร่วมตั้งบริษัทขึ้นเพื่อเข้าซื้อกิจการของลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย แต่ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการบริษัทโจทก์ร่วมมีมติตั้งบริษัทประเภทนี้ ยิ่งกว่านั้นจำเลยที่ 3 ไม่ได้ประกอบธุรกิจอื่นใดนอกจากกู้เงินจากโจทก์ร่วม โดยสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินเกินบัญชีนำไปช่วยเหลือภาระหนี้ของบริษัทในเครือนายราเกซและบุคคลที่เกี่ยวข้อง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นยาวนานทำให้เกิดหนี้นับพันล้านบาท ซึ่งจำเลยที่ 1 พยายามปกปิดโดยอนุมัติสินเชื่อเงินกู้ระยะสั้นมาตกแต่งบัญชี ไม่มีการชำระหนี้แท้จริง เกิดหนี้เสียไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นเหตุให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด (มหาชน) โจทก์ร่วมต้องล้มไป บังเกิดความเสียหายแก่สถานะและประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอย่างร้ายแรง พฤติการณ์ไม่อาจรับฟังเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากจำเลยที่ 2 รู้เห็นและมีส่วนร่วมแต่ต้นในแผนการยักยอกเงินของโจทก์ร่วมและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายไปให้จำเลยที่ 3 และบริษัทในเครือนายราเกซรวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้บัตรผ่านรายการ 109 เจ ของจำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราว อันเป็นการกระทำผิดต่อหน้าที่โดยฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 307, 308 และ 311 ประกอบมาตรา 313 แม้จำเลยที่ 2 จะกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันโดยใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ ของจำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวก็ตาม แต่การอนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวแต่ละครั้งตามฟ้องข้อ 2.98 ถึงข้อ 2.100 และข้อ 2.126 ถึงข้อ 2.344 แยกต่างวันเวลากัน จำเลยที่ 2 จึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราว จำเลยที่ 2 มีความผิดรวมจำนวน 222 กระทง สำหรับความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 356 ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้วว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยรู้เรื่องความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อโดยการจ่ายเงินตามเช็คของโจทก์ร่วมที่มอบให้แก่จำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 001-01XXX-X และเลขที่ 001-1-02XXX-X เกินจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันทั้งสองบัญชีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2538 ตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.346 ก่อนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งมีหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมตำรวจเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539 พ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว โดยโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ประกอบกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น คดีโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 ในส่วนของจำเลยที่ 2 ตามฟ้องข้อ 2.98 ถึงข้อ 2.100 และข้อ 2.126 ถึงข้อ 2.344 จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 และ 354 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 อีกบทหนึ่งด้วยหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 308 กำหนดความผิดของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เบียดบังเอาทรัพย์ของนิติบุคคลเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่ง ไม่ได้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วม แม้การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการสั่งจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินและไม่มีวงเงินในบัญชีกระแสรายวัน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวโดยมิชอบ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้เงินดังกล่าวไปจากโจทก์ร่วม ลักษณะการกระทำเป็นการร่วมวางแผนและร่วมลงมือมาแต่ต้น แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ อย่างไรก็ดี บทบัญญัติมาตรา 315 ได้กำหนดความผิดไว้โดยเฉพาะสำหรับผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้กระทำความผิดตามมาตรา 308 ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิด อาชญากรรมทางธุรกิจมีความซับซ้อนหลายขั้นตอน การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนดังกล่าว โดยช่วยเหลือให้กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินการของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกระทำความผิดตามมาตรา 308 อันเป็นความผิดตามมาตรา 315 แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกับความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 และ 311 ซึ่งระวางโทษเท่ากัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 309 โจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า คำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ซ้ำกับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 211/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้หรือไม่ เห็นว่า การใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ ของจำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมกันกับการใช้บัตรผ่านรายการหมายเลข 109 เจ อนุมัติสินเชื่อแก่นิติบุคคลหรือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่จำเลยที่ 3 คดีนี้ คำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คดีนี้จึงไม่ซ้ำกับคำฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 211/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้
อนึ่ง ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ ปรากฏตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 ว่า คดีหมายเลขดำที่ 5443/2539 หมายเลขแดงที่ 213/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 5 (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) เป็นเวลา 8 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 จำคุก 5 ปี ซึ่งเป็นการกระทำความผิดคนละบทกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในคดีนี้ จึงนับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 5 (จำเลยที่ 2 ในคดีนี้) ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กับปรากฏตามเอกสารท้ายฎีกาคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ว่า คดีหมายเลขดำที่ 10764/2542 หมายเลขแดงที่ 3767/2550 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ 2241/2541 หมายเลขแดงที่ 211/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลชั้นต้นและศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทั้งสองคดี อย่างไรก็ดี ในชั้นศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 10764/2542 หมายเลขแดงที่ 3767/2550 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง แม้เป็นการกระทำความผิดบทเดียวกันแต่ต่างกรรมการกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในคดีนี้ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการนับโทษต่อ ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2241/2541 หมายเลขแดงที่ 211/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 4, 24 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 44, 46 ทวิ ที่แก้ไขแล้ว ให้จำคุก 10 ปี ซึ่งเป็นการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันแต่ต่างกรรมกันกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องในคดีนี้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ อีกทั้งปรากฏตามคำร้องของโจทก์ ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2550 ว่า คดีหมายเลขดำที่ 6979/2543 หมายเลขแดงที่ 3974/2550 ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 3 (จำเลยที่ 2 คดีนี้) เป็นเวลา 20 ปี และปรับ 16,000,000 บาท แต่โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้เห็นว่าคดีดังกล่าวกับคดีนี้มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือไม่ จึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าคดีดังกล่าวกับคดีนี้มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้หรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีดังกล่าวได้ เพราะจะทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ จึงไม่อาจนับโทษต่อจากคดีหมายเลขแดงที่ 3974/2550 ของศาลชั้นต้นได้ สำหรับคดีอื่นที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อนั้น ไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ นอกจากนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกระทำความผิดอนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.399 รวมจำนวน 399 กรรม เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราวแต่ละครั้งแยกต่างวันเวลากัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนากระทำความผิดแยกต่างหากจากกันตามจำนวนครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อนุมัติสินเชื่อตั้งวงเงินชั่วคราว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 2.1 ถึงข้อ 2.399 รวมจำนวน 399 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ครบทุกกรรมได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 212
พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307, 308 และ 311 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ละกระทงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและมีระวางโทษเท่ากัน จึงลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 313 ประกอบมาตรา 307 เพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยที่ 2 รวม 222 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 1,110 ปี และปรับรวม 1,969,593,948.82 บาท แต่จำคุกจำเลยที่ 2 ไว้ 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 การกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปี ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 984,796,974.41 บาท คืนแก่โจทก์ร่วม นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 213/2548 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ คำขอนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 308 อีกบทหนึ่งด้วย โดยไม่ต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 404 กรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ละกระทงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทและมีระวางโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 ประกอบมาตรา 307 ส่วนโทษสำหรับจำเลยที่ 3 และนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share