แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำว่า “กำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษา” ในมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 หมายถึง การศึกษาต่อจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา แต่ยังไม่จบชั้นอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีโจทก์ร่วมเป็นบุตรของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยผู้ตายและจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีแล้ว การที่โจทก์ร่วมสมัครเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ระดับปริญญาตรีอีก ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมเปลี่ยนแปลงฐานะกลับเป็นกำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามกฎหมายดังกล่าว และข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยฉบับที่ 48
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภรรยาของนายเฟื่องรับเงินสงเคราะห์ตกทอดส่วนของนายวิทยาโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งของนายเฟื่องเกินไป 67,912 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรองการรับเงินสงเคราะห์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวคืน จำเลยทั้งสองให้การว่า นายเฟื่อง ไม่มีทายาทอื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมนายเฟื่อง รัตนทัศนีย สามีจำเลยที่ 1 และบิดาจำเลยที่ 2รับราชการที่กรมรถไฟ กระทรวงคมนาคม ต่อมาโอนมาเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งหัวหน้ากองสินค้าและที่ดิน เกษียณอายุเมื่อวันที่19 มกราคม 2509 ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน เดือนละ 3,396 บาทวันที่ 1 กรกฎาคม 2524 นายเฟื่องตายตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมายจ.12 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ตกทอดจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.13, จ.14 โดยอ้างว่าเป็นภริยามีสิทธิรับเงินสงเคราะห์ตกทอดแต่เพียงผู้เดียวเพราะบุตรนายเฟื่องบรรลุนิติภาวะหมดแล้วโจทก์จึงจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดจำนวน 101,880 บาท ให้จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับรองการชดใช้เงินคืนเอกสารหมาย จ.15 ว่าถ้าได้ความภายหลังว่ายังมีทายาทอื่นมีสิทธิรับเงินดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1 รับจะคืนเงินที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิแก่โจทก์ ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2525 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอรับเงินสงเคราะห์ตกทอดโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นบุตรนายเฟื่องเพราะนายเฟื่องจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตร โจทก์ไต่สวนแล้วเห็นว่าโจทก์ร่วมเป็นบุตรนายเฟื่องจริงและขณะที่นายเฟื่องตายโจทก์ร่วมอายุ 24 ปีเศษ กำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามเงินสงเคราะห์ตกทอดที่จำเลยที่ 1 รับไปแล้วไปยังจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4, จ.5และ จ.7, จ.8 ตามลำดับจำเลยทั้งสองไม่ยินยอม คดีมีปัญหาว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามฟ้องหรือไม่พิเคราะห์ข้อบังคับคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 48เอกสารหมาย จ.11 ระบุว่าเงินสงเคราะห์ตกทอดให้อนุโลมตามพระราชบัญญัติ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ซึ่งตามมาตรา 45บัญญัติว่า “บำนาญพิเศษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ให้จ่ายโดยกำหนดเวลาและเงื่อนไขดังนี้ (1) บุตร ให้มีสิทธิได้รับจนอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ เว้นแต่เมื่ออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์นั้นกำลังศึกษาอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรือในชั้นอุดมศึกษา…..ก็ให้ได้รับต่อไปตลอดเวลาที่ยังทำการศึกษาอยู่ในสถานการศึกษา…..” และมาตรา 49บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 38 ผู้ได้รับบำนาญปกติอยู่…..ถึงแก่ความตายให้จ่ายเงินเป็นบำเหน็จตกทอดให้แก่บุคคลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 เป็นจำนวนสามสิบเท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับ…..และให้จ่ายตามส่วนที่กำหนดในมาตรานั้น แต่บุตรซึ่งมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์แล้วในวันที่ข้าราชการผู้นั้นตาย ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตกทอด เว้นแต่กำลังศึกษาในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรือชั้นอุดมศึกษา…..และยังมีอายุไม่เกินยี่สิบหกปีบริบูรณ์…..”เห็นว่า คำว่า “กำลังศึกษาในชั้นอุดมศึกษา” หมายถึงการศึกษาที่ต่อจากชั้นเตรียมอุดมศึกษา แต่ยังศึกษาไม่จบในชั้นอุดมศึกษาในการศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยคณะใดคณะหนึ่ง แม้หากศาลฎีกาจะไม่รับฟังข้อความในคำขอรับเงินบำนาญตกทอดจากกระทรวงคมนาคมเอกสารหมาย ล.1, ล.2 มาผูกมัดโจทก์ร่วมตามที่โจทก์ร่วมฎีกาก็ตามแต่เมื่อโจทก์ร่วมตอบคำถามค้านรับว่าโจทก์ร่วมศึกษาจบปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปีการศึกษา 2521ภาค 2 แล้วจึงสมัครเข้าศึกษาคณะรัฐศาสตร์เมื่อปีการศึกษา 2522ภาค 1 ศาลฎีกาพิเคราะห์ใบรับรองเอกสารหมาย จ.20, จ.21 และ จ.22ประกอบแล้วเห็นว่าโจทก์ร่วมสมัครเข้าศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ภายหลังจากจบการศึกษาในคณะนิติศาสตร์ไปแล้ว แม้จะมีคำรับรองจากมหาวิทยาลัยตามเอกสารหมาย จ.2, จ.3, จ.21 ว่าโจทก์ร่วมยังมีสภาพเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปริญญาตรี ในขณะที่นายเฟื่องบิดาถึงแก่กรรมก็ตาม ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งศึกษาจนจบชั้นอุดมศึกษาไปแล้วเปลี่ยนแปลงฐานะกลับเป็นกำลังศึกษาชั้นอุดมศึกษาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไปได้ โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตกทอดตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และข้อบังคับคณะกรรมการการรถไฟ ฉบับที่ 48 ดังกล่าว และจำเลยทั้งสองไม่จำต้องคืนเงินสงเคราะห์ตกทอดที่ได้รับจากโจทก์ไปแล้วให้โจทก์ร่วม”
พิพากษายืน