คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฎีกาของโจทก์แม้จะวินิจฉัยให้ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับชำระหนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 500,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่างทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ในวงเงินดังกล่าวให้ไว้แก่โจทก์คนละฉบับ ดังนี้ เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 ซึ่งผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หาใช่แยกความรับผิดกันไม่ กรณีดังกล่าวแม้หนี้ของจำเลยที่ 1 จะมีจำนวนเกินกว่า500,000 บาท จำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญารับชำระหนี้ในส่วนที่เกินกว่า 500,000 บาทไม่แต่ถ้าผิดนัดต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งสินค้าออกจำนวน 638,695.25 บาท และหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 779,588.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 3 และที่ 4รับผิดในต้นเงินไม่เกินคนละ 500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 3 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่า ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีด้วยนั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6, จ.7 และ จ.8 เป็นสัญญาค้ำประกันจำกัดความรับผิดในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท หนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะในประเภทสินเชื่อเพื่อส่งสินค้าออกตามสัญญารับชำระหนี้ เอกสารหมาย จ.3ที่ค้างชำระก็มีจำนวนเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่อาจหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอยู่แล้ว ฎีกาของโจทก์แม้จะวินิจฉัยให้ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์แต่ประการใดจึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยผู้ค้ำประกันจะต้องแยกกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6, จ.7, จ.8 หรือจะต้องรับผิดร่วมกันนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1ได้ทำหนังสือสัญญารับชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาทปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ต่างทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์คนละฉบับ ปรากฏตามเอกสารหมายจ.6, จ.7, จ.8
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นกรณีที่บุคคลหลายคนยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หาใช่แยกความรับผิดอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับฎีกาของจำเลยในเรื่องดอกเบี้ยนั้น เห็นว่าสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.6, จ.7, จ.8 เป็นสัญญาประกันจำกัดความรับผิดไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท หนี้ประเภทสินเชื่อเพื่อการส่งสินค้าออกตามสัญญารับชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์ฟ้องมีจำนวนเงินเกินกว่า 500,000 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงหาต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามสัญญารับชำระหนี้ในส่วนที่เกินกว่า 500,000 บาทไม่ อย่างไรก็ดีแม้จำเลยจะไม่ต้องรับผิดเกินกว่า 500,000 บาท แต่ถ้าหากจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันผิดนัดก็จะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจำเลยผิดนัดชำระเงิน 500,000 บาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ปรากฏข้อเท็จจริงจากการนำสืบของทั้งสองฝ่ายได้ความตรงกันว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 500,000 บาท ภายใน 1 เดือนนับแต่วันรับหนังสือ ดังปรากฏตามสำเนาหนังสือทวงถามลงวันที่ 6 มีนาคม 2524 ซึ่งจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 13 และ 12 มีนาคม 2524 ตามลำดับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 แต่จำเลยก็มิได้ชำระหนี้จำนองดังกล่าวให้แก่โจทก์จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 14 เมษายน 2524 สำหรับจำเลยที่ 3 และตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2524 สำหรับจำเลยที่ 4ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204, 224 ฎีกาจำเลยในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้นเป็นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 เมษายน 2524 สำหรับจำเลยที่ 3 และตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2524 สำหรับจำเลยที่ 4 จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245, 247 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share