คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทรัพย์ตามฟ้องซึ่งถูกคนร้ายลักไปเป็นของกระทรวงกลาโหมอยู่ในความดูแลของกรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกองทัพบกกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ต่างก็เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ การที่เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ดังกล่าว มอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย ทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการ กรมอัยการ ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ เดิมอัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดเดียวกับคดีนี้ไว้แล้ว ต่อมาขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์คดีนั้นได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างว่าจำเลยเป็นบุคคลพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารกระทำความผิดฐานรับของโจทก์และมีอาวุธปืนไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายนอกที่ตั้งหน่วยทหาร คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 14(2) โจทก์จึงขอถอนฟ้องเพื่อส่งคืนพนักงานสอบสวนให้ส่งพนักงานอัยการพลเรือนดำเนินการต่อไป มิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 แต่เป็นการถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องเกี่ยวกับอำนาจศาลเท่านั้น และแม้กรณีศาลทหารยกฟ้องเพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน พนักงานอัยการก็ยังนำคดีมาฟ้องต่อศาลพลเรือนได้ ดังนั้นสิทธินำคดีมาฟ้องจึงหาระงับไปไม่ พนักงานอัยการ กรมอัยการ มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานโจทก์ที่เคยตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาด้วยกัน เป็นแต่มีน้ำหนักให้รับฟังมากน้อยเพียงใดเท่านั้นหากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเบิกความประกอบชอบด้วยเหตุผลเชื่อได้ว่าเบิกความตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์อาวุธปืนเล็กยาว เอ็ม 16 จำนวน3 กระบอก ของกรมสรรพาวุธทหารบก ซึ่งอยู่ในความครอบครองของพันโททิวส์ หงษ์อ่ำหรือมิฉะนั้นจำเลยรับทรัพย์ของโจทก์ดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 55, 78 จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษรวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี 8 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกรวม 2 กระทง มีกำหนด2 ปี 8 เดือน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาข้อ 1 เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง จำเลยฎีกาว่า กรมสรรพาวุธทหารบกไม่เป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ในเรื่องนี้ปรากฏชัดตามคำฟ้องของโจทก์ว่า มีคนร้ายลักทรัพย์ตามฟ้องของกรมสรรพาวุธทหารบก กระทรวงกลาโหมไป อันฟังได้ว่าทรัพย์ตามฟ้องเป็นของกระทรวงกลาโหม อยู่ในความดูแลของกรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกองทัพบกกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบกเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528 และกระทรวงกลาโหมเป็นนิติบุคคลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 72 และ 73 และเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ ดังนั้นการที่พลโทองอาจ ศุภมาตย์ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ครอบครองดูแลทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีนี้ มอบอำนาจให้ร้อยเอกอยุธยาธีระเนตร ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีนี้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2ทั้งคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพนักงานอัยการ กรมอัยการมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ ปัญหาข้อ 2ที่ว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ ปรากฏว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความเป็นมาแห่งทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ รวมทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการนั้นเพียงพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ไม่มีข้อความตอนใดที่ขัดแย้งกันอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ดังฎีกาของจำเลยแต่อย่างใดฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ปัญหาข้อ 3 ที่ว่าสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ ได้ความตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 235 ก./2527 ของศาลทหารกรุงเทพ ที่จำเลยอ้างมาว่า เดิมอัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดเดียวกับคดีนี้ไว้ ต่อมาขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์คดีนั้นได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โดยอ้างเหตุในคำร้องว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหารกระทำความผิดฐานรับของโจรและมีอาวุธปืนไว้โดยฝ่าฝืนกฎหมายนอกที่ตั้งหน่วยทหารคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498มาตรา 14(2) โจทก์ในคดีนั้นจึงขอถอนฟ้องเพื่อส่งคืนพนักงานสอบสวนให้ส่งพนักงานอัยการพลเรือนดำเนินการต่อไป อันเห็นได้ว่า มิใช่เป็นการขอถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 แต่เป็นการถอนฟ้องเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องเกี่ยวกับอำนาจศาลเท่านั้น แม้แต่ศาลทหารยกฟ้องเพราะเหตุคดีอยู่ในอำนาจศาลพลเรือน พนักงานอัยการก็ยังนำคดีมาฟ้องต่อศาลพลเรือนได้ ดังนี้พนักงานอัยการ กรมอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ สิทธิการนำคดีมาฟ้องหาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ไม่ สำหรับปัญหาข้อ 4 จำเลยฎีกามาเป็น 2 กรณีกรณีแรกที่ว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ที่พันโททิวส์ หงษ์อ่ำ พยานโจทก์บันทึกไว้ตามเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยมิได้ลงชื่อรับรองและเป็นเอกสารที่มิได้เกิดขึ้นจากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน จึงเป็นการรับฟังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลอุทธรณ์เชื่อตามคำเบิกความของพันโททิวส์พยานโจทก์ที่ยืนยันว่าจำเลยรับกับพยานว่าได้นำเอาชิ้นส่วนอาวุธปืนเอ็ม 16 ของกลางไปจริง ดังนั้นแม้ศาลอุทธรณ์จะอ้างถึงบันทึกหมาย จ.4 ก็เป็นเพียงอ้างอิงประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าว ข้อที่จำเลยโต้แย้งเกี่ยวกับบันทึกเอกสารหมาย จ.4 จึงมิใช่ประเด็นโดยตรง ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดี จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ส่วนฎีกาจำเลยในกรณีหลังที่ว่า ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับฟังคำพยานโจทก์ คือ นายดิเรก โตพ่วงพันธ์ นายสมชายขวัญแพร นายจำรัส เริงทรง และนายบรรจง ดอกไม้งามเพราะเป็นคำเบิกความซัดทอดของพยานที่ตกอยู่ในฐานผู้ต้องหาด้วยกัน(ตามข้อเท็จจริง ผู้ที่ตกอยู่ในฐานะผู้ต้องหาด้วยกันมีเฉพาะนายจำรัส และนายบรรจง) ซึ่งตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้ เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมาย ห้ามมิให้รับฟังพยานเช่นว่านั้นไว้แต่อย่างใด เป็นแต่มีน้ำหนักให้รับฟังมากน้อยเพียงใดเท่านั้น หากศาลเห็นว่าพยานเช่นว่านั้นเบิกความประกอบชอบด้วยเหตุผล เชื่อได้ว่าเบิกความตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ศาลก็มีอำนาจรับฟังพยานดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้ สรุปแล้ว เห็นว่าฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 โดยไม่ระบุวรรคนั้น เห็นสมควรระบุเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 วรรคแรก (8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share