แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่ แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสามจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ความผิดฐานร่วมกันลักลอบนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งหลอดไฟฟ้าดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ลักลอบหนีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ และความผิดฐานร่วมกันนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ดังกล่าวที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48 แต่ละฐานแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จลง ตลอดจนบัญญัติกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน จึงเป็นการกระทำความผิดคนละกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่ ดังนั้น แม้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงและอธิบดีกรมศุลกากรได้งดการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามตามมาตรา 102 และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3) ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันเป็นอันระงับไปด้วยแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 108, 109, 110, 115, 117 พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21, 48 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 และพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21, 48 (ที่ถูกและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) ฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และฐานร่วมกันเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และฐานร่วมกันนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่มีใบอนุญาต การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ปรับคนละ 30,000 บาท ฐานนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายโดยไม่มีใบอนุญาต ปรับคนละ 500,000 บาท รวมปรับคนละ 530,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 265,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และมาตรา 30 ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 30 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเฉพาะในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ประการแรกว่า การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48 เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ ที่จำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงและอธิบดีกรมศุลกากรได้งดการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ ตามที่มาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้อำนาจไว้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3) ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 อีกเช่นกันนั้น เห็นว่า ปัญหาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่ แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสามจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อพิจารณาความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันลักลอบนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์จำนวน 3,088 ดวง ที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งหลอดไฟฟ้าดังกล่าวโดยรู้ว่าเป็นของที่ลักลอบหนีศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ และความผิดฐานร่วมกันนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ดังกล่าวที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48 นั้น เห็นได้ว่า ความผิดแต่ละฐานแยกออกต่างหากจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำ เวลาที่กระทำเป็นความผิดสำเร็จลง ตลอดจนบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน จึงเป็นการกระทำความผิดคนละกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่ ดังนั้น แม้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ ซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงและอธิบดีกรมศุลกากรได้งดการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามตาม มาตรา 102 และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (3) ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48 ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันเป็นอันระงับไปด้วยแต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าว อุทธรณ์จำเลยทั้งสามประการนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการต่อไปว่า สมควรลดโทษปรับให้แก่จำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์จำนวน 3,088 ดวง ที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 นั้น แม้จะเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสามละเลยต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภคที่อาจได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายได้ แต่เมื่อยังไม่ปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ทั้งน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามน่าจะเข็ดหลาบและสำนึกในความผิดบ้างแล้ว กรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีด้วยการลดโทษปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยทั้งสามในความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มานั้น หนักเกินไป ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดโทษปรับเสียใหม่ให้เหมาะสม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามประการนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า ส่วนจำเลยที่ 2 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 นั้น ไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ให้ปรับจำเลยทั้งสามคนละ 300,000 บาท ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงปรับคนละ 150,000 บาท เมื่อรวมโทษทุกฐานแล้วคงปรับคนละ 165,000 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง