คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15586/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คำฟ้องระบุว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 กำหนดเงื่อนไขการรับเงินทดแทนของลูกจ้างต่างด้าวจากกองทุนเงินทดแทนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนให้โจทก์ที่ 1 เนื้อหาคำฟ้องเป็นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ที่มุ่งประสงค์ให้เพิกถอนแนวปฏิบัติฉบับเดียวกันโดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่าแนวปฏิบัติไม่มีผลบังคับเพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในสำนักงานประกันสังคม (จำเลย) เพื่อจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง ทรัพย์สินของกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานประกันสังคม โดยให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานประกันสังคมหรืออาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติแทนได้ การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 32 กำหนดแนวปฏิบัติให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งต่อมาสำนักงานประกันสังคมถือปฏิบัติตามมตินั้นโดยจัดทำหนังสือวางแนวปฏิบัติแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกับสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวกัน หากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 1 สำนักงานประกันสังคมต้องรับผิด การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้อง ส. กับพวกในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลยในคดีก่อน กับฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันโดยคู่ความเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
เมื่อคดีนี้เป็นคดีแรงงาน ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 สำหรับเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ก็ให้นำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 จึงนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 เรื่องการให้การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยให้มีผลทันทีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อแรกว่า การที่โจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ที่ 1 เคยยื่นฟ้องนายสุรินทร์ กับพวกรวม 13 คน ในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ตามคดีหมายเลขแดงที่ 124/2551 ของศาลแรงงานภาค 5 ด้วยเหตุที่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันและจำเลยคนเดียวกันหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนที่โจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องไว้นั้นมีเนื้อหาคำฟ้องระบุว่าแนวปฏิบัติตามหนังสือที่ รส 0711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544 กำหนดเงื่อนไขการรับเงินทดแทนของลูกจ้างต่างด้าวจากกองทุนเงินทดแทน ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่อาจเข้าถึงสิทธิในเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช้บังคับไม่ได้ เป็นเหตุให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยไม่จ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 แล้วสั่งใหม่เป็นว่าให้จำเลยสั่งจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เนื้อหาคำฟ้องเป็นเช่นเดียวกับคำฟ้องคดีนี้ที่มุ่งประสงค์ให้เพิกถอนแนวปฏิบัติฉบับเดียวกัน อันเป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ใช้อ้างว่าแนวปฏิบัติไม่มีผลบังคับเพื่อขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จึงเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่เป็นการฟ้องคนละเรื่องกันกับคดีก่อนดังที่โจทก์ที่ 1 อ้างในอุทธรณ์นอกจากนี้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 กำหนดให้มีกองทุนเงินทดแทนในสำนักงานประกันสังคมเพื่อจ่ายเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินของกองทุนให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานประกันสังคม โดยให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนประกอบด้วยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินหกคนกับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสามคน ทำหน้าที่ปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานประกันสังคมหรืออาจมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ปฏิบัติงานแทนได้ การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีมติครั้งที่ 20/2544 ลงวันที่ 14 กันยายน 2544 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 กำหนดแนวปฏิบัติให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งต่อมาสำนักงานประกันสังคมถือปฏิบัติตามมติดังกล่าวโดยจัดทำหนังสือวางแนวปฏิบัติแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัด เช่นนี้ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกับสำนักงานประกันสังคมจึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเดียวกันภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 หากการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ที่ 1 สำนักงานประกันสังคมต้องรับผิด ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องสำนักงานประกันสังคมเป็นจำเลยในคดีนี้กับคดีก่อนที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องนายสุรินทร์ กับพวกรวม 13 คน ในฐานะคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นจำเลย จึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันโดยคู่ความเดียวกันเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อที่สองว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จะต้องนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับหรือไม่ และอำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะต้องพิจารณาว่าเป็นผู้ที่อาจจะเดือดร้อนหรืออาจจะเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากแนวปฏิบัติของจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีแรงงานต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 แต่ทั้งนี้การดำเนินกระบวนพิจารณาในบางเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในเรื่องนั้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานได้โดยอนุโลม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนั้น จึงนำบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองตามที่โจทก์ทั้งสามอ้างมาใช้กับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแรงงานไม่ได้ รวมถึงในเรื่องอำนาจฟ้องก็ไม่อาจนำพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 42 มาวินิจฉัยถึงการเป็นผู้ถูกโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ที่ศาลแรงงานภาค 5 ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 และนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ในเรื่องอำนาจฟ้องมาใช้โดยอนุโลมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share