คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 439/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องเรียกเงินกู้โดยล้างตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีข้อความแสดงแต่เพียงรับรองว่า จำเลยมีหนี้อันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่า หนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่น โจทก์ย่อมนำพยานหลักฐานสืบประกอบว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ได้
ป.ม.แพ่งฯมาตรา 653 หาได้มีความหมายเคร่งครัดถึงกับว่า จะต้องมีถ้อยคำว่า กู้ยืมเป็นหลักฐานในเอกสารนั้นไม่ เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงความเป็หนี้สินลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้ว และสืบพยานหลักฐานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้สินนั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืมเอกสารนั้นก็เป็นหนังสือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ ท.สัญชาติญี่ปุ่น ๕๘,๐๐๐ บาท ตามสำเนาคำแปลหนังสือตั๋วสัญญาใช้เงินท้ายฟ้อง จำเลยผู้ควบคุมทรัพย์สินของ พ.ซึ่งตกเป็นบุคคลที่เป็นศัตรูต่อสหประชาชาต โจทก์ขอรับชำระหนี้จำเลยไม่ยอมจ่าย จำเลยต่อสุ้ว่า เอกสารตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องไม่ใช้หลักฐานแห่งการกู้ยืมและอื่น ๆ หลายประการ สำเนาเอกสารท้ายฟ้องมีข้อความว่า “กรุงเทพฯ ๑ สิงหาคม ๑๙๔๕ ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะจ่ายเงินจำนวน ๕๘,๐๐๐ บาท(ห้าหมื่นแปดพันบาทถ้วน) ให้แก่หม่อมเจ้าฉันทนากร วรรณ ลงชื่อ ท.มายาจิ”
ศาลชั้นต้นเห็น่า หลักฐานดังกล่าวไม่ใช่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมตาม ป.ม.แห่งฯมาตรา ๖๕๓ เพราะเอกสารไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องกู้ยืม อาจเป็นเรื่องอื่นใดที่ผู้สั่งจ่ายสัญญาจะจ่ายแก่ผู้ทรงตั๋วก็ได้ โจทก์จะฟ้องในลักษณะยืมเพียงอาศัยเอกสารนี้เป็นหลักฐานหาได้ไม่ ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืม ตาม ป.ม. แพ่งฯมาตรา ๖๕๓ นั้นจะทำในรูปใดก็ให้ได้ความว่า มีการกู้ยืมเงินกัน เอกสารท้ายฟ้องมีข้อความแสดงให้รู้ได้ชัดเจนว่า ท.เป็นลูกหนี้โจทก์จริง จึงถือได้ว่าเป็นหลักฐานเป็นตามหนังสือตามมาตรา ๖๕๓ ควรฟังข้อเท็จจริงที่คู่ความจะนำสืบต่อไป พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่า ปัญหาเบื้องต้นมีว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดมาแสดง โดยอ้างว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมดังนี้แล้ว ถ้าแม้หนังสือนั้นมีข้อความแสดงแต่เพียงรับรองว่าจำเลยมีหนี้อันจะถึงต้องชำระให้แต่โจทก์โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่าหนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ หรือหนี้อย่างอื่นแล้วโจทก์จะนำพยานหลักฐานสืบประกอบว่า หนี้นั้นเป็นหนี้เงินกู้ได้หรือ ศาลฎีกาเห็นว่าตามหลักในเรื่องพยานหลักฐาน การนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายข้อความซึ่งยังไม่ชัดแจ้งในเกสารนั้นคู่ความย่อมทำได้ เพราะมิได้ต้องห้ามโดย ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๔๔ โดยมิใช่เป็นการสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร และมิใช่เป็นการเพิ่มตัดทอนหรือเปลี่นแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นหากแต่เป็นการนำสืบว่า หนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น เป็นหนี้เกิดจากนิติสัมพันธ์อย่างใด ข้อความที่บัญญัติวไ้ใน ป.ม.แพ่งมาตรา ๖๕๓ ก็หาได้มีความเคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่า กู้ยืมเป็นหลักฐานในเอกสารนั้นไม่ เมื่อโจทก์ได้นำหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงความเป็หนี้สินลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้ว และสืบพยานหลักฐานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้สินนั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืมเอกสารนั้นก็เป็นหนังสือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว
จึงพิพากษายืน

Share