แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า บิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิจึงไม่จำต้องบรรยายซ้ำลงในคำฟ้องอีกว่าเป็นเอกสารที่ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและ สถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของ ที่เกี่ยวข้อด้วยพอสมควร ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจข้อหา ได้แล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการฉ้อโกงภาษี ซึ่งเงินที่เก็บได้จากภาษีนี้เป็นรายได้ของรัฐที่จะนำไป พัฒนาประเทศชาติ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะคิดเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากมาย แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหาย ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ถือได้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง การไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นจึงเหมาะสม แก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 264, 265, 268 ประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481มาตรา 77/1, 82/3, 83, 83/1, 83/4, 86/13, 90/4(3), 90/4(7) ริบเอกสารปลอมของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 3 และที่ 4ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3และที่ 4 และให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 ประกอบมาตรา 83ประมวลรัษฎากร มาตรา 86/13, 90/4(3)(7) การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่มีสิทธิออก เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมและนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ในการเครดิตภาษี เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปีพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติประกอบข้อเท็จจริงที่ความผิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการคลังก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ เห็นสมควรไม่รอการลงโทษให้ ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า การที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิว่าบิลเงินสดเป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ฟ้องของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า บิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิ ซึ่งมีความหมายเป็นที่เห็นกันโดยชัดแจ้งว่าบิลเงินสดเป็นเอกสารที่ก่อ เปลี่ยนแปลงโอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิอยู่ในตัวเองแล้ว ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องบรรยายซ้ำลงในคำฟ้องอีกแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควร ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าใจข้อหาได้แล้วคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่าบิลเงินสดใบกำกับภาษีรวม 8 ฉบับ ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2รับฝากจากบุคคลอื่นไว้เพื่อให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่รู้ว่าเป็นบิลเงินสดและใบกำกับภาษีปลอมเพราะเอกสารดังกล่าวบรรจุอยู่ในซองที่ปิดผนึกจะถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2มีเจตนาในการกระทำความผิดด้วยไม่ได้นั้นเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการข้อเท็จจริงต้องฟังว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาขึ้นมานั้นเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นมาเลยทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกามาในประการสุดท้ายขอให้ลดโทษหรือรอการลงโทษนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นการฉ้อโกงภาษี ซึ่งเงินที่เก็บได้จากภาษีนี้เป็นรายได้ของรัฐที่จะนำไปพัฒนาประเทศชาติ แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะคิดเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากมาย แต่ก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศถือได้ว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงที่ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษและไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน