คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องมีหนังสือปฏิเสธหนี้ค่าหุ้นซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าผู้ร้องยังค้างชำระต่อบริษัทลูกหนี้(จำเลย) โดยส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือโอนหุ้นเป็นพยานต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปแล้ว แม้ในชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ออกหมายนัดให้ผู้ร้องไปให้การเพื่อสอบสวนโดยระบุว่า ถ้า ไม่ไป ถือว่าไม่ติดใจให้สอบสวนก็ตามผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยกข้ออ้างเกี่ยวกับการที่ผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่ผู้มีชื่อ ขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลและนำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ไม่ถือว่าการนำพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นอันยุติไปตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนไว้ ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อ ผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้(จำเลย) การโอนหุ้นจึงต้องจดแจ้งการโอนทั้งชื่อ และสำนักงานผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรค 3มิฉะนั้นจะอ้างเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระหุ้นมิได้ ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระต่อบริษัทลูกหนี้ ผู้ร้องจึงไม่อาจยกเอาการโอนหุ้นซึ่งยังมิได้จดแจ้งการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ในการจัดการทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ปรากฏว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้และค้างชำระค่าหุ้นอยู่เป็นเงิน 150,000 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องชำระค่าหุ้น ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เห็นว่าผู้ร้องเป็นหนี้อยู่จริงจึงแจ้งยืนยันหนี้ไปยังผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องถือหุ้นอยู่จำนวน 2,000หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท ได้ชำระแล้วหุ้นละ 25 บาท แต่ผู้ร้องได้โอนหุ้นให้แก่ นายเนตร เพ่งศรีและนายธวัชชัย เพ่งศรี ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2523 ผู้ร้องจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าหุ้นอีก
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยังไม่ได้ชำระค่าหุ้นที่ค้างแก่บริษัทลูกหนี้ และการโอนหุ้นมิได้มีการจดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ผู้ร้องจึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าหุ้นที่ค้างจำนวน 150,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องโอนหุ้นไปแล้ว แม้จะไม่มีการจดแจ้งการโอนหุ้นลงในสมุดทะเบียน ฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นหนี้ค่าหุ้นบริษัทลูกหนี้มีคำสั่งจำหน่ายผู้ร้องจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องชำระหนี้จำนวน 150,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 เมษายน 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องได้มีหนังสือปฏิเสธหนี้อ้างว่าผู้ร้องได้โอนหุ้นให้แก่นายเนตร นายธวัชชัยไปแล้ว และได้ส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาโอนหุ้นเป็นพยานที่ผู้ร้องไม่ได้ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนตามนัดไม่ถือว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด การสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเพียงวิธีการรวบรวมพยานหลักฐานว่าผู้ร้องเป็นหนี้บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) จริงหรือไม่ เมื่อผู้ร้องได้รับแจ้งความยืนยันจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล และผู้ร้องได้นำสืบอ้างส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย ร.1และ ร.2 มิใช่เป็นการสืบพยานหลักฐานใหม่อันเป็นการซ้ำซ้อนกับการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 119 นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ร้องปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 119 วรรค 2 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะทำการสอบสวนและทำความเห็นเรื่องการปฏิเสธหนี้นั้น เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ออกหมายนัดผู้ร้องให้ไปเพื่อสอบสวนแม้หมายนัดจะมีข้อกำหนดว่าถ้าไม่ไปให้การสอบสวนตามนัด จะถือว่าไม่ติดใจให้สอบสวน เมื่อถึงกำหนดนัดผู้ร้องไม่ไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งงดการสอบสวน ทำความเห็นและยืนยันหนี้ไปซึ่งเป็นดุลพินิจและความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล ตามมาตรา 119 วรรค 3 ให้ศาลพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นหนี้หรือไม่ได้เป็นหนี้กองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ผู้ร้องก็มีสิทธิยกขึ้นเป็นข้ออ้างข้อต่อสู้ในชั้นศาลและนำพยานหลักฐานเข้าสืบได้ ไม่ถือว่าการนำสืบพยานหลักฐานเป็นอันยุติไปตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทำการสอบสวนแต่อย่างใด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว
ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องได้ทำหนังสือสัญญาโอนหุ้นตามเอกสารหมาย ร.1 และ ร.2 ให้แก่นายเนตร นายธวัชชัย แม้มิได้จดแจ้งการโอนหุ้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ตาม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรค 3 เป็นเพียงเพื่อให้บริษัทและบุคคลภายนอกทราบเท่านั้น แต่หุ้นดังกล่าวได้มีการโอนกันไปแล้ว การโอนหุ้นจึงใช้ยันบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นั้น เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรค 3 เมื่อผู้ร้องโอนหุ้นให้แก่นายเนตรและนายธวัชชัยโดยไม่ได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักงานผู้รับโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างเหตุผลใด ๆ มาเป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นไปจากความรับผิดได้ และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) แล้วพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 22(2) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่บริษัทลูกหนี้(จำเลย) หรือซึ่งบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นฉะนั้นเมื่อผู้ร้องต้องห้ามมิให้ยกการโอนหุ้นขึ้นยันบริษัทลูกหนี้(จำเลย) ดังกล่าวแล้วผู้ร้องก็ย่อมไม่อาจยกการโอนหุ้นขึ้นยันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เช่นเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share