คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4170/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสรรพากรจังหวัดสั่งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 3 เสนอสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของห้าง จ. ต่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ก็ปฏิบัติตาม โดยไม่ผ่านการตรวจพิจารณาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด ตามคำสั่งและระเบียบปฏิบัติของทางราชการนั้น เป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งการใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้ เพื่อให้งานดำเนินไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเกิดผลดีแก่ทางราชการทั้งนี้เพราะคำสั่งและระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ ย่อมมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ส่วนจำเลยที่ 1 นั้นเพิ่งจะเข้ารับราชการ ย่อมจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ประกอบกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการโต้เถียงกันเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรของห้างดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่อาจฟังได้ว่ามีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนการที่จำเลยที่ 2 รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากรว่า โจทก์ได้มอบเงินแก่จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ช่วยเหลือในการชำระภาษีอากรของห้าง จ. นั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ 2 รายงานโดยจำเลยที่ 2 ซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัวแกล้งรายงานดังกล่าวจนโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนและให้ออกจากราชการไว้ก่อน จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการบรรยายฟ้องในเรื่องแกล้งรายงานของจำเลยที่ 2 นี้ เป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 อีกกระทงหนึ่ง นอกเหนือจากข้อหาหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ได้
เมื่อการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับจำเลยที่ 2 รับราชการมานาน ทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นสรรพากรจังหวัด กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษแก่จำเลยที่ 2.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๓๖, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์และยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ข้อหาหมิ่นประมาท
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์ก็ในข้อหาหมิ่นประมาทเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามให้ยกคำร้อง และพิพากษากลับให้ประทับฟ้องโจทก์ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำคุก ๑ ปี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำคุกที่ ๑ ตามฟ้อง ลงโทษจำเลย ที่ ๒ ทุกกระทงความผิดที่กล่าวในฟ้อง
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ให้จำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งสรรพากรจังหวัดเลย เป็นหัวหน้าสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลย โจทก์เป็นผู้ช่วยสรรพากรจังหวัดเลย ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และตรวจสอบภาษีอากรมีจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ๓ อยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใจสดชื่น ได้นำหลักฐานบัญชีการค้ามาให้สำนักงานสรรพากรจังหวัดเลยตรวจสอบ จำเลยที่ ๒ สั่งให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการตรวจสอบ จำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบภาษีอากรของห้างดังกล่าวปรากฏว่าห้างจะต้องเสียภาษีอากรเพิ่ม จึงได้เสนอรายงานการตรวจสอบโดยตรงต่อจำเลยที่ ๒ โดยไม่ผ่านโจทก์ตรวจสอบก่อนเพราะจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งเช่นนั้น เห็นว่า คำสั่งจังหวัดเลย เรื่อง การจัดรูปงานและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลย ที่ให้โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์และตรวจสอบภาษีอากร คำสั่งสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลย เรื่องขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับการตรวจสอบภาษีอากรในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลย หนังสือกรมสรรพากร เรื่องระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากร ฯ กับเรื่อง การจัดรูปงานและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสรรพากรจังหวัด และคำสั่งสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลย เรื่อง กำหนดปริมาณงานและผลงานการตรวจสอบภาษีเป็นเพียงคำสั่งให้ข้าราชการในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลยปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเกิดผลดีแต่ทางราชการ คำสั่งหรือระเบียบดังกล่าวอาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยแปลงได้ตามความเหมาะสม ดังเช่นจังหวัดเลยได้มีคำสั่งจัดรูปงานและอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลยใหม่ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานและเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และจำเลยที่ ๑ ย่อมมีอำนาจที่จะสั่งการใดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามได้ เพื่อให้งานในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลยดำเนินไปโดยถูกต้องและรวดเร็วเพื่อให้เป็นผลดีแก่ทางราชการ และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้เกิดโต้เดียงกันเกี่ยวกับการไต่สวนปากคำผู้มาให้ปากคำของห้างหุ้นส่วน ใจสดชื่น จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ เสนอสำนวนการตรวจสอบภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ใจสดชื่น ไปยังจำเลยที่ ๒ โดยตรงโดยไม่ต้องเสนอผ่านโจทก์ก่อนตามระเบียบและคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานในสำนักงานสรรพากรจังหวัดเลยเป็นไปโดยเรียบร้อยรวดเร็วและการที่จำเลที่ ๒ สั่งให้จำเลยที่ ๑ เสนอผลการตรวจสอบภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ใจสดชื่น โดยตรงต่อจำเลยที่ ๒ นั้นยังไม่พอที่จะให้ฟังว่า จำเลยที่ ๒ กระทำโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ ๑ นั้นปรากฏว่าเพิ่งจะเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่สูงที่สุดในสำนักงานสั่งก็ย่อมจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม อีกทั้งได้ความด้วยว่า การที่จำเลยที่ ๑ แก้ไขจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดใจสดชื่น จะต้องเสียภาษีอากรลดลงอีกก็เพราะนายสมศักดิ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ๕ ได้ขอสำนวนของห้างดังกล่าวไปจากจำเลยที่ ๑ แล้วบันทึกข้อความที่จะให้แก้ไขให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตาม จำเลยที่ ๑ เพิ่งจะเริ่มตรวจสอบภาษีอากรและยังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ย่อมจะต้องเชื่อคำแนะนำของนายสมศักดิ์ เนื่องจากเห็นว่านายสมศักดิ์มีประสบการณ์มากกว่า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยที่ ๒ ซึ่งสั่งให้จำเลยที่ ๑ รายงานการตรวจสอบภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัด ใจสดชื่นตรงต่อจำเลยที่ ๒ โดยไม่ผ่านโจทก์ก่อน และจำเลยที่ ๑ ก็ปฏิบัติตาม รวมทั้งการที่จำเลยที่ ๑ แก้ไขจำนวนภาษีอากรที่ห้างดังกล่าวจะต้องเสียเพิ่มลงอีก ยังไม่พอที่จะให้ฟังว่า จำเลยที ๑ ที่ ๒ ได้กระทำไปโดยเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันจะเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้อง
การที่จำเลยที่ ๒ รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากร มีใจความว่า โจทก์ได้มอบเงิน ๑๕,๐๐๐ บาท ซึ่งได้รับมาจากนายไทย หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใจสดชื่น ให้แก่จำเลยที่ ๒ เพื่อให้จำเลยที่ ๒ ช่วยเหลือในเรื่องการชำระภาษีอากรของห้างแต่จำเลยที่ ๒ ไม่ยอมรับนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ดังที่จำเลยที่ ๒ รายงาน การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีเรื่องโกรธเคืองกับโจทก์เป็นส่วนตัวแล้วแกล้งรายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจนโจทก์ถูกตั้งกรรมกสารสอบสวนทางวินัยและให้ออกจากราชการไว้ก่อน การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ได้อ้างว่า การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ได้รายงานต่ออธิบดีกรมสรรพากร
เป็นการกระทำเพื่อใส่ความและกลั่นแกล้งเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษโจทก์ทางวินัย และดำเนินคดีกับโจทก์ เป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ ๒ รายงานเท็จไป ซึ่งความจริงไม่เป็นดังที่จำเลยที่ ๒ รายงาน ทำให้โจทก์เสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อีกกระทงหนึ่ง นอกเหนือจากข้อหาหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้อง ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามบทมาตราดังกล่าวได้ และบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ใช้ถ้อยคำว่า “……..เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด……..”
เมื่อการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้
ที่จำเลยที่ ๒ ขอให้รอการลงโทษนัน ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ได้กระทำความผิดหรือเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยที่ ๒ รับราชการมานานและทำคุณประโยชน์แก่ทางราชการตลอดมาจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นสรรพากรจังหวัดกรณีมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามขอ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ กับให้รอการลงโทษจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ บอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share