คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3134/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสเป็นโมฆะนั้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้
ขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่แล้ว โจทก์จึงเป็นผู้สมรสโดยสุจริตเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่ายังไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อและจดทะเบียนสมรสกับจำเลยต่อมาโจทก์ จำเลย มีบุตรด้วยกันคือ เด็กหญิง ช. ภายหลังโจทก์ทราบความจริงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่ก่อนแล้วจึงขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับชื่อเสียงและค่าขาดรายได้พิเศษ 175,500 บาท ค่าเลี้ยงชีพเป็นรายเดือนเดือนละ 1,500 บาทและให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงช.แต่ผู้เดียว โดยให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 2,000 บาทด้วย
จำเลยให้การว่า จำเลยอยู่กินกับโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมาก่อน ต่อมาจำเลยรักใคร่ชอบพอกับร้อยตรีหญิงจารุณี อัมพรประภาและได้จดทะเบียนสมรสกันแต่เมื่อโจทก์มีบุตรและขอให้จำเลยจดทะเบียนสมรส จำเลยก็ยินยอมจดทะเบียนสมรสด้วย จำเลยไม่ได้หลอกลวงโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยจำเลยขอเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตร หากโจทก์ไม่ยินยอมค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ไม่เกินเดือนละ 500 บาท
ในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องโจทก์เกี่ยวกับอำนาจปกครองบุตร เพื่อให้ไปดำเนินคดีต่อที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่ากัน ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนา ให้จำเลยชำระค่าทดแทนแก่โจทก์ 40,000 บาท และค่าเลี้ยงชีพเดือนละ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะไม่ต้องจดทะเบียนหย่า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าจำเลยไม่มีสิทธิฎีกานั้นเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าการสมรสเป็นโมฆะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้จะมีคำขอที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย คู่ความก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ทั้งคำขอในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนนี้ยังเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวอีกด้วย จำเลยจึงมีสิทธิฎีกาได้ ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยนั้นข้อเท็จจริงฟังยุติว่า โจทก์จำเลยได้เสียกันมาก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนสมรสกับร้อยตรีหญิงจารุณี อัมพรประภา และโจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อเดือนธันวาคม 2523 จำเลยนำสืบว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับร้อยตรีหญิงจารุณีเมื่อวันที่ 2กันยายน 2523 และได้จัดงานเลี้ยงฉลองสมรสเมื่อวันที่ 27 กันยายน2524 จึงเป็นเวลาห่างกันประมาณ 1 ปี จำเลยเบิกความว่าจำเลยบอกโจทก์ว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับร้อยตรีหญิงจารุณีก่อนจัดงานเลี้ยงฉลองสมรสประมาณ 5-6 เดือนแสดงว่าจำเลยบอกให้โจทก์ทราบเมื่อประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2524 แต่โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อเดือนธันวาคม 2523 ดังนั้นขณะที่โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยจึงเป็นเวลาก่อนที่โจทก์ทราบว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับร้อยตรีหญิงจารุณีอยู่ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าว จึงเห็นว่าโจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยโดยสุจริต เมื่อการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 และมาตรา 1496 แล้วโจทก์ซึ่งเป็นผู้ทำการสมรสโดยสุจริตย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพได้ด้วยตามมาตรา 1499 ปัญหาต่อไปมีว่าโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนและค่าเลี้ยงชีพเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์เบิกความว่าพันเอกอรุณ ผู้บังคับบัญชาเคยเรียกโจทก์จำเลยไปไกล่เกลี่ยจำเลยรับจะให้ค่าเสียหายโจทก์เป็นเงิน 150,000 บาทโดยผ่อนชำระเป็นงวดงวดละ 50,000 บาท แต่เมื่อโจทก์ให้จำเลยทำสัญญาเป็นหนังสือ จำเลยไม่ยินยอม พันเอกอรุณ พยานโจทก์เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.10 สอดคล้องกับคำโจทก์ดังกล่าวรับฟังเป็นจริงได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน 40,000 บาทและค่าเลี้ยงชีพรายเดือนเดือนละ 1,000 บาทนั้น เป็นการสมควรและเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งรูปคดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเป็นจำนวนเพียง 40,000 บาทแต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาโดยคิดจากทุนทรัพย์ 150,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง’
พิพากษายืน.

Share