แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่าโจทก์รับเงินค่าระวางของจำนวน 600 บาท จากพนักงานของจำเลยแล้วทดเงินไว้เป็นเวลา 7 วัน เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบของบริษัทจำเลยอย่างร้ายแรงศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ทุจริตเงินค่าระวางของจำนวน 600 บาท หรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องหรือไม่ ดังนี้ ปัญหาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ จึงมิได้เป็นข้อพิพาทในคดี เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตเงินค่าระวางดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วย มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลแรงงานต้องพิจารณาว่าลูกจ้างกับนายจ้างอาจทำงานร่วมกันต่อไปได้หรือไม่เป็นประการแรกหากไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปจึงจะพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้ลูกจ้างเป็นประการที่สองศาลแรงงานพึงพิพากษาเพียงประการเดียว การที่ศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้าง อันเป็นการพิพากษาสองประการโดยมีเงื่อนไขนั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แต่การพิจารณาถึงเหตุสองประการดังกล่าวเป็นดุลพินิจของศาลแรงงาน จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำการส่อไปในทางทุจริตซึ่งไม่เป็นความจริง นอกจากนี้จำเลยสอบสวนโจทก์โดยไม่ชอบด้วยระเบียบของจำเลย คำสั่งเลิกจ้างโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิมโดยนับอายุงานต่อเนื่อง และให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่เลิกจ้างโจทก์ หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้จ่ายค่าชดเชยเงินกองทุนบำเหน็จ เงินประกันและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง คือ โจทก์กระทำการทุจริตโดยรับเงินค่าระวางของจำนวน ๖๐๐ บาท จากพนักงานขับรถของจำเลยแล้วไม่นำเข้าบัญชีบริษัทจำเลยให้ถูกต้องกลับทดเงินไว้เป็นเวลา ๗ วันโดยมีเจตนานำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่นซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบบริษัทจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงาน และไม่มีสิทธิได้รับเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตเงินค่าระวาง พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมโดยนับอายุงานต่อเนื่อง และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเลิกจ้างรวมค่าครองชีพนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ก็ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๒๕,๘๓๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๓,๐๑๓ บาท เงินกองทุนบำเหน็จ ๖๐,๒๗๐ บาท และเงินประกัน ๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ แต่การที่โจทก์ได้รับเงินค่าระวางไว้เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๙ ต่อมาวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๙ โจทก์จึงออกใบเสร็จรับเงินและนำเงินเข้าบัญชีจำเลยดังนี้ แสดงว่าโจทก์มีเจตนาฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในวันัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์ทุจริตเงินค่าระวางของจำนวน ๖๐๐ บาท หรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามฟ้องหรือไม่ เท่านั้น ดังปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๐ ปัญหาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยนั้น มิได้เป็นประเด็นข้อพิพาทในศาลแรงงานกลาง จึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ประกอบด้วยมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิม กับให้จ่ายค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้าง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมได้ก็ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินกองทุนบำเหน็จและเงินประกันแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นคำพิพากษาที่ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งบัญญัติให้ศาลแรงงานพิจารณาว่าลูกจ้างกับนายจ้างอาจร่วมกันทำงานต่อไปได้หรือไม่เป็นประการแรก หากไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานจึงจะพิจารณาเป็นประการที่สองโดยกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนตามบทมาตราดังกล่าว ศาลแรงงานพึงพิพากษาเพียงประการเดียว จะพิพากษาเป็นสองประการโดยมีเงื่อนไขหาได้ไม่ การพิจารณาเหตุสองประการนั้นเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางโดยเฉพาะ เป็นปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่อาจวินิจฉัยเองได้ จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาโดยนัยที่กล่าวข้างต้นแล้วพิพากษาใหม่