คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6883/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามมาตรา 8 ทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ โดยมาตรา 16 ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้นการพิจารณาว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้ร้องมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องสองนัดแรก ทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถมาศาลได้ และระบุในคำร้องนัดที่ 2 ว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังมีอาการป่วยมาศาลไม่ได้ก็จะขอถอนคำร้องเสียศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนและกำชับให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดทนายความของผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าผู้ร้องป่วยเนื่องจากกระดูกต้นคองอกทับเส้นประสาทพึ่งได้รับการผ่าตัด มีอาการมึนงงไม่สามารถตอบคำถามได้และไม่สามารถลุกนั่งได้ด้วยตนเอง และรับรองว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังไม่สามารถมาศาลได้ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบและยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปอีก รวมระยะเวลาที่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษ นับได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีโดยให้โอกาสแก่ผู้ร้องอย่างมากแล้วแต่ผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในการไต่สวนคำร้องนัดที่ 4 โดยอ้างเหตุผลอย่างเดิมอีกพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าผู้ร้องจงใจประวิงคดีให้เนิ่นช้าและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจึงชอบแล้ว มาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ หาได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่โดยทำความเห็นและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณา จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 9 วรรคสาม แล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษาว่า ผู้ร้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบมาตรา 362, 83 การกระทำของผู้ร้องเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ประกอบมาตรา 362, 83 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน และปรับ2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ผู้ร้องคนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารออกไปจากที่ดินที่ยึดถือครอบครอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องพบพยานบุคคลและพยานเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานใหม่ว่าที่ราชพัสดุ หมายเลขทะเบียน ภก.110 โฉนดเลขที่ 11197 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นของกระทรวงการคลัง ที่สถานีขนส่งจังหวัดภูเก็ต กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ครอบครองและใช้ประโยชน์มิได้มีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 122 ตำบลตลาดใหญ่ (บางเหนียว) อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตของนายเจียร วานิช โดยผู้ร้องมีนายประยุทธ อศิรชัย ช่างรังวัดผู้ทำการรังวัดแนวเขตที่ดินทั้งสองแปลงและนายดิลก ถาวรว่องวงศ์ ผู้ยกที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง เป็นพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีนี้แล้วจะแสดงให้เห็นว่าที่ดินที่ผู้ร้องครอบครองอยู่นอกเขตที่ราชพัสดุหมายเลขทะเบียน ภก.110 และผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ระหว่างนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุเจ็บป่วยรวม 4 ครั้งในการขอเลื่อนคดีครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ตามคำร้องขอเลื่อนคดี ครั้งที่ 3 ของผู้ร้องมีข้อความรับรองว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องไม่สามารถมาศาลได้ ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบให้ศาลยกคำร้องของผู้ร้องได้ เมื่อผู้ร้องไม่มาเบิกความต่อศาลจึงถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ แล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น และให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องในข้อแรกว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าคำร้องขอเลื่อนคดีลงวันที่ 19 ตุลาคม 2541 ของผู้ร้องเป็นการประวิงคดี เป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามมาตรา 8 ทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ โดยมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนและกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้น การพิจารณาว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้ร้องมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่ จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องนัดแรกในวันที่ 30 มีนาคม 2541 ครั้นถึงวันนัดไต่สวนทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 19 มิถุนายน 2541 แต่เมื่อถึงวันนัดทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี อ้างเหตุว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถเดินได้ และระบุในคำร้องว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังมีอาการป่วยมาศาลไม่ได้ก็จะขอถอนคำร้องเสีย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 26 สิงหาคม 2541 และกำชับให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดทนายความของผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีกอ้างว่าผู้ร้องป่วยเนื่องจากกระดูกต้นคองอกทับเส้นประสาทพึ่งได้รับการผ่าตัดมีอาการมึนงงไม่สามารถตอบคำถามได้และไม่สามารถลุกนั่งได้ด้วยตนเองและรับรองว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังไม่สามารถมาศาลได้ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบและยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนในวันที่ 19 ตุลาคม 2541 รวมระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษนับได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีโดยให้โอกาสแก่ผู้ร้องอย่างมากแล้วแต่ในวันที่ 19 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องนัดที่ 4 ผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุผลอย่างเดิมอีก พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีตามที่ร้องขอ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าผู้ร้องจงใจประวิงคดีให้เนิ่นช้าและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีชอบแล้ว
ที่ผู้ร้องฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้ไต่สวนพยานของผู้ร้องให้เสร็จสิ้นกระแสความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่มีอำนาจพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องนั้น เห็นว่าศาลชั้นต้นได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้ว แต่ไม่สามารถไต่สวนพยานของผู้ร้องได้เนื่องจากผู้ร้องไม่นำพยานมาให้ศาลไต่สวน ทั้งผู้ร้องได้รับรองไว้ในคำร้องขอเลื่อนคดี ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2541 ว่า หากนัดต่อไปผู้ร้องไม่มาศาลก็ให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ คำรับรองดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องก็ต้องถือว่าคดีเสร็จการไต่สวนแล้วโดยผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบตามที่ผู้ร้องรับรองไว้ในคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจยกคำร้องของผู้ร้องได้
ที่ผู้ร้องฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า คดีเดิมถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วต้องทำความเห็นและส่งสำนวนไปยังศาลฎีกาตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13(2)ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาในชั้นนี้เป็นการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ซึ่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 วรรคสามบัญญัติไว้ชัดเจนว่า “เมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้า” ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า คดีเดิมถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาศาลชั้นต้นต้องทำความเห็นและส่งสำนวนไปให้ศาลฎีกาพิจารณาตามมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 นั้น เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หาได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นทำความเห็นและส่งสำนวนไปใหศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share