แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง และวรรคสุดท้าย บัญญัติจำแนกวิธีดำเนินการ ไว้เป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรณีตามความในวรรคหนึ่งต้องได้ความว่า ผู้นั้นร่ำรวยผิดปกติและไม่สามารถแสดงได้ว่าร่ำรวยขึ้น ในทางที่ชอบ ให้ถือว่าผู้นั้นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งลงโทษไล่ออก มีลักษณะครอบคลุม กว้างขวางถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา มิใช่มุ่งเฉพาะ ตัวทรัพย์สินที่ตรวจสอบพบและให้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ โดยมิชอบ ซึ่งเป็นการลงโทษตามบทกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่อง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรณีตามความในวรรคสุดท้ายหากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบ ศาลก็ไม่อาจริบทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดิน จึงเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับตัวทรัพย์สินตามคำร้องขอซึ่งมีปัญหาเพียงว่า สมควรริบทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ร่ำรวยขึ้นในทางมิชอบและถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามความในวรรคหนึ่ง อันเป็นคนละส่วน แยกต่างหากจากวรรคสุดท้าย โจทก์จึงมิอาจยกคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เกี่ยวเฉพาะตัวทรัพย์สินตามคำร้องตามความในวรรคสุดท้ายขึ้นอ้าง เพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าตน ร่ำรวยขึ้นในทางมิชอบและถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ โดยมิชอบ เมื่อคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 ที่ให้ไล่โจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งซึ่งมีลักษณะ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะโดยใช้ดุลพินิจ ตามขั้นตอนและมีกฎหมายรองรับ ทั้งโจทก์ก็มิได้โต้แย้ง ว่ากระบวนการในการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาล เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ไล่โจทก์ออกจากราชการเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530และให้ถือว่าโจทก์ยังรับราชการและนับเวลาหรืออายุราชการของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2530 จนถึงวันเกษียณอายุราชการให้จ่ายเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญ เงินช่วยเหลือค่าครองชีพข้าราชการบำนาญแก่โจทก์จนตลอดชีวิต คำนวณจากวันที่ 1 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2539 เป็นเงิน 1,833,373 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้โจทก์ได้รับสิทธิในฐานะข้าราชการบำนาญเดือนละ 22,200 บาทนับแต่วันฟ้องจนตลอดชีวิต หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยทั้งสี่ดำเนินการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงตามสิทธิที่โจทก์พึงได้รับตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2525 มีผู้ร้องเรียนต่อสำนักงาน ป.ป.ป.ว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติขณะดำรงตำแหน่งสรรพสามิต จังหวัดชลบุรีคณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวนแล้วมีมติว่าโจทก์ร่ำรวยผิดปกติจึงส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลให้วินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้นเป็นของแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 21ตุลาคม 2528 พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 22347/2528 ขอให้ศาลสั่งว่าทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกติเป็นของแผ่นดิน ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ป. รายงานความเห็นต่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรีและวันที่ 22 เมษายน 2530 พลเอกเปรมมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 ไล่โจทก์ออกจากราชการ ต่อมาศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาโดยชอบ ให้ยกคำร้องตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย จ.4 ระหว่างวันที่ 10ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2537 โจทก์ส่งสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 เพื่อพิจารณาคืนสิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์ควรจะได้รับระหว่างที่ถูกไล่ออกจากราชการและขอให้แก้ไขคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีหนังสือแจ้งว่า เมื่อโจทก์ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว จึงไม่จำต้องพิจารณาสิทธิประโยชน์ของโจทก์ซึ่งพึงจะได้รับหลังจากนั้นตามเอกสารหมาย จ.10
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 ได้หรือไม่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า”เมื่อมีพฤติการณ์แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติให้คณะกรรมการพิจารณาสอบสวนและให้มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของตนตามรายการ วิธีการ และระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้ความปรากฏว่าผู้นั้นร่ำรวยผิดปกติ และไม่สามารถแสดงได้ว่าร่ำรวยขึ้นในทางที่ชอบให้ถือว่าผู้นั้นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ให้คณะกรรมการรายงานความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งลงโทษไล่ออก”และในวรรคสุดท้ายบัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินที่คณะกรรมการวินิจฉัยว่าเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยขึ้นโดยผิดปกตินั้นให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดินเว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบ” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวจำแนกวิธีดำเนินการไว้เป็น 2 ส่วน กล่าวคือ ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรณีตามความในวรรคหนึ่ง ต้องได้ความว่าผู้นั้นร่ำรวยผิดปกติและไม่สามารถแสดงได้ว่าร่ำรวยขึ้นในทางที่ชอบให้ถือว่าผู้นั้นใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งลงโทษไล่ออกมีลักษณะครอบคลุมกว้างขวางถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหามิใช่มุ่งเฉพาะแต่ตัวทรัพย์สินที่ตรวจสอบพบและให้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นการลงโทษตามบทกฎหมายพิเศษเฉพาะเรื่อง แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาเป็นกรณีตามความในวรรคสุดท้าย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นแสดงให้ศาลเห็นว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบศาลก็ไม่อาจริบทรัพย์สินนั้นเป็นของแผ่นดินจึงเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับตัวทรัพย์สินตามคำร้องขอซึ่งมีปัญหาเพียงว่าสมควรริบทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นร่ำรวยขึ้นในทางมิชอบและถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบตามความในวรรคหนึ่ง ฉะนั้นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 ซึ่งเป็นคำสั่งตามความในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง อันเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากวรรคสุดท้ายโจทก์จึงมิอาจยกคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เกี่ยวเฉพาะตัวทรัพย์สินตามคำร้องตามความในวรรคสุดท้ายขึ้นอ้าง เพื่อหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าตนร่ำรวยขึ้นในทางมิชอบและถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเมื่อคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 54/2530 เป็นคำสั่งซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะโดยใช้ดุลพินิจตามขั้นตอนและมีกฎหมายรองรับ ทั้งโจทก์ก็มิได้โต้แย้งว่ากระบวนการในการออกคำสั่งนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในปัญหานี้ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน