แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หลังจากที่มีข้อพิพาทกันตามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดขึ้นแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงกันใหม่เพื่อจะระงับข้อพิพาทด้วยการเสนอคดีให้ศาลไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ ข้อตกลงเดิมที่ต้องเสนอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยจึงสิ้นผลผูกพันไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไปจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงให้จำเลยที่ 1 หลายครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 26,724,388.49 ดอลลาร์สหรัฐจำเลยที่ 1 ชำระราคาบางส่วนแล้วผิดนัดไม่ชำระส่วนที่เหลือเป็นเงิน 25,174,388.40 ดอลลาร์สหรัฐ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ เป็นคำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 30 แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ว่ามีการส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงกี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด เมื่อใดบ้าง รวมถึงจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดและโจทก์คิดดอกเบี้ยได้อย่างไร ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้องเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงกัน โดยโจทก์เป็นผู้ขายและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ซื้อ โจทก์ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้จำเลยที่ 1 หลายครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 26,774,388.49 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 ชำระราคาเพียงบางส่วนเป็นเงิน 1,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วผิดนัดไม่ชำระส่วนที่เหลือแก่โจทก์คิดเป็นเงิน 25,174,388.49 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,732,203.39 ดอลลาร์สหรัฐ และไม่ชดใช้ค่าเบี้ยประกันภัยสินค้าที่โจทก์จ่ายแทนไปเป็นเงิน 234,586.39 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์ในการทำสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้นำหุ้นสามัญของบริษัทสีชังสยามโซลเว้นท์ จำกัดซึ่งเป็นหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 1,200,000 บาท มาจำนำเพื่อประกันหนี้และมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 28,141,178.27 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้จำเลยที่ 1 ที่ใดกี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด เมื่อใดบ้าง รวมทั้งจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด ตามสัญญากำหนดให้นำข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง และไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยที่ 1 ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์ผิดสัญญาไม่ส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาลงวันที่ 9 เมษายน 2540 รวมทั้งไม่ส่งมอบน้ำมันในเที่ยวเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 รวม 7 เที่ยว ในปริมาณ 370,000 เมตริกตัน ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงได้บอกเลิกสัญญา การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นค่าขาดกำไร 44,400,000 บาท ขาดรายได้จากส่วนต่างของดอกเบี้ย 477,300,000 บาท ค่าเช่าสถานที่เก็บน้ำมัน 475,200,000 บาท ค่าก่อสร้างถังเก็บน้ำมัน 64,050,381 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 1,061,050,381 บาท ซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 121,578,687 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,182,629,068 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,061,050,381 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระเงินค่าน้ำมันให้แก่โจทก์ในสัญญาฉบับเดียวกัน จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 25,174,388.49 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2541ของต้นเงิน 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงิน1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงิน 1,500,000ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2541 ของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 ของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่15 เมษายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2541 และของต้นเงิน 1,200,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,732,203.39 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้โดยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษาคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์สำนวนหลังด้วย
จำเลยทั้งสองในสำนวนแรกและโจทก์ในสำนวนหลังอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาขายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่จำเลยที่ 1 มีระยะเวลาการส่งมอบสินค้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 ราคาน้ำมันในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2540 ได้ระบุไว้ในสัญญาแล้ว ส่วนราคาน้ำมันในระยะที่สองตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะต้องมาตกลงราคากันใหม่ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ตามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงเอกสารหมาย จ.5 น้ำมันเชื้อเพลิงงวดที่ 2 หรือในระยะที่ 2 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวข้างต้นนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดส่งให้จำเลยที่ 1 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นประการแรกว่า เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงให้ข้อพิพาทข้อขัดแย้ง หรือข้อโต้เถียงที่เกิดขึ้นจากสัญญานี้ หรือการปฏิบัติผิดสัญญานี้จะต้องชี้ขาดตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อสัญญาดังกล่าวโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า หลังจากที่มีข้อพิพาทกันตามสัญญาซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงเอกสารหมาย จ.5 เกิดขึ้นแล้ว ปรากฏตามสัญญาเปลี่ยนกำหนดเวลาชำระเงินเอกสารหมาย จ.11 ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มีการตกลงกันใหม่เพื่อจะระงับข้อพิพาทด้วยการเสนอคดีให้ศาลไทยเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้ ข้อตกลงเดิมที่ต้องเสนอให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยจึงสิ้นผลผูกพันไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อนอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการที่ 2 มีว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า โจทก์ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงให้จำเลยที่ 1 ที่ใด กี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด เมื่อใดบ้าง รวมทั้งจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใด และโจทก์คิดดอกเบี้ยได้อย่างไร คำฟ้องของโจทก์จึงเคลือบคลุม ในประเด็นข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงไปจากโจทก์ โจทก์ส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงให้จำเลยที่ 1 หลายครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 26,724,388.49 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 ชำระราคาบางส่วนเป็นเงิน 1,600,000 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วผิดนัดไม่ชำระส่วนที่เหลือเป็นเงิน 25,174,388.40 ดอลลาร์สหรัฐขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า คำฟ้องดังกล่าวได้แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 30 แล้ว ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ว่ามีการส่งมอบน้ำมันเชื้อเพลิงกี่ครั้ง ปริมาณครั้งละเท่าใด เมื่อใดบ้าง รวมถึงจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่เมื่อใดและโจทก์คิดดอกเบี้ยได้อย่างไร ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวในคำฟ้อง เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถจะนำสืบในชั้นพิจารณาได้คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทตามอัตราเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว (หมายถึงวันที่มีคำพิพากษา) ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนมีคำพิพากษานั้น เห็นว่า เป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง ที่ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 25,174,388.49 ดอลลาร์สหรัฐ แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2541 ของต้นเงิน 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐนับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงิน 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 27กุมภาพันธ์ 2541 ของต้นเงิน 1,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2541 ของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 ของต้นเงิน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 15 เมษายน 2541 ของต้นเงินจำนวน 2,500,000ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐนับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ของต้นเงิน 2,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2541 และของต้นเงิน 1,200,000ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,732,203.39 ดอลลาร์สหรัฐ หากจำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาท ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในเวลาที่ใช้เงิน แต่ต้องไม่เกินจำนวนเงินบาทที่คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง