คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3614/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือเสนอราคาที่โจทก์มีไปถึงจำเลยถือเป็นคำเสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 355 ส่วนหนังสือแต่งตั้งและว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการพิธีการทางศุลกากรและนำเครื่องจักรไปส่งให้จำเลยที่จำเลยมีไปถึงโจทก์หลังได้รับคำเสนอแล้ว แม้จะไม่ได้อ้างถึงหนังสือเสนอราคาแต่ก็มิได้มีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยแต่อย่างใดจึงย่อมเป็นคำสนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 359 วรรคสอง และเมื่อคำบอกกล่าวสนองของจำเลยไปถึงโจทก์ผู้เสนอแล้วย่อมเป็นสัญญาขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคแรก ในสัญญาตัวแทน ตัวการและตัวแทนมักมีความเกี่ยวพันกันเป็นส่วนตัวหรือหน้าที่การงานประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 803 จึงวางหลักไว้ว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากกิจการที่ตนทำไปแทนตัวการ แต่สำหรับสัญญาจ้างทำของนั้น มีอยู่เสมอที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างมิได้รู้จักผูกพันกันมาก่อนเหตุที่ทำสัญญากันก็เนื่องมาจากผู้ว่าจ้างต้องการผลสำเร็จของงานซึ่งผู้รับจ้างมีความถนัดและมักประกอบเป็นอาชีพโดยหวังสินจ้างเป็นสำคัญอันเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าการบริการ โจทก์และจำเลยไม่รู้จักเกี่ยวพันกันมาก่อนต่างเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการค้าการให้บริการโดยมุ่งหวังผลกำไร สัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างทำของ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแต่งตั้งและว่าจ้างให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงานจำนวน 235 หีบห่อที่จำเลยสั่งซื้อมาจากต่างประเทศให้ไปส่งที่โรงงานของจำเลยที่จังหวัดสระบุรี โจทก์ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 882,368.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 811,196.12 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้เสนอรายการมายังจำเลยว่าการขนสินค้านั้นโจทก์จะใช้บริการของ ร.ส.พ. ถ้ารถ ร.ส.พ. มีไม่พอก็จะใช้รถร่วม ร.ส.พ. จำเลยจึงตกลงให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการออกสินค้าและขนส่งสินค้าไปยังโรงงานของจำเลยโจทก์แจ้งว่าได้ว่าจ้างให้บริษัท อี.ที.ที. เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ขนส่งซึ่งมีรถ ร.ส.พ. ขนส่งเพียง 4 เที่ยว จำเลยจึงไม่ชำระเงิน จำเลยได้ไปขอรายละเอียดการคิดค่าขนส่งจาก ร.ส.พ. ซึ่ง ร.ส.พ. ให้รายละเอียดว่าการขนส่งนี้ได้ใช้รถของ ร.ส.พ. ทุกเที่ยวเป็นเงินค่าขนส่งตามสำเนาใบเสร็จรับเงินของ ร.ส.พ. ทั้งสิ้นเพียง 133,110 บาท โจทก์ไม่สุจริต จำเลยไม่ใช่ผู้ผิดนัดจำเลยยอมชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามใบแจ้งหนี้แต่โจทก์ไม่มีสิทธิอ้างการขนส่งโดยบริษัทอื่นมาเรียกเก็บเงินค่าขนส่งจากจำเลยคงมีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าขนส่งเฉพาะค่าขนส่งตามใบเสร็จของ ร.ส.พ. รวมเป็นเงิน133,110 บาท จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ รวมทั้งค่าขนส่งแก่โจทก์เพียง444,002.05 บาท และไม่ต้องชำระดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 811,196.12 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นมีว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงานของจำเลย และดำเนินการขนสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปยังโรงงานของจำเลยที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โจทก์ได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและขนสินค้าไปส่งมอบให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าจ้างซึ่งรวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ ที่โจทก์ออกทดรองแทนจำเลย โดยจำเลยยอมจะชำระค่าภาษีและค่าธรรมเนียมท่าเรือจำนวน 112,450.85 บาท ค่าธรรมเนียมเรือส่งตู้สินค้ากลับและค่าล่วงเวลาศุลกากรจำนวน 6,250 บาท ค่าขนส่งขึ้นจากเรือจำนวน 92,607 บาท ค่าธรรมเนียมสินค้าขาออกจากท่าเรือจำนวน 74,455.50 บาท ค่าบริการจำนวน 18,613.85 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6,514.85 บาท จากที่โจทก์ฟ้อง ส่วนค่ารถบรรทุกขนส่งถึงโรงงานจำเลยที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 697,133.80 บาท ซึ่งโจทก์ลดราคาลง 196,829.73 บาท เหลือ 500,304.07 บาท นั้น จำเลยจะชำระเพียง 133,110 บาท โดยจำเลยอ้างว่าค่าขนส่งตกลงราคากันตามใบเสร็จรับเงินขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกที่ว่า ข้อความในหนังสือแต่งตั้งและว่าจ้างโจทก์ในเอกสารหมาย จ.5 ไม่ได้อ้างถึงหนังสือเสนอราคาเอกสารหมาย จ.4 ย่อมแสดงว่าเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยมีไปถึงโจทก์ไม่ได้เป็นคำสนองหรือเป็นคำตอบรับหนังสือของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.4 แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ต้องผูกพันต้องชำระค่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์นั้น เห็นว่า ปรากฏตามคำเบิกความของนายวิชัย เตมีย์รักษ์ พยานโจทก์ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของโจทก์ขณะเกิดเหตุว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2536 จำเลยได้โทรศัพท์ติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์ดำเนินพิธีการทางศุลกากรนำสินค้าของจำเลยออกและดำเนินการนำส่งให้จำเลยที่ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โจทก์จึงได้มีหนังสือเสนอราคาไปยังจำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นโทรสารลงวันที่ 25 ตุลาคม 2536 นั้นเอง จากนี้จะเห็นได้ว่า ต่อมาในวันที่ 20 ธันวาคม 2536 จำเลยได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.5 ถึงโจทก์แต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงาน โดยให้ดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำใบขนหลายเที่ยวเรือ สำหรับการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมของจำเลย และดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อออกของที่จำเลยได้สั่งเข้ามากับให้นำเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้ผ่านพิธีการแล้วส่งมอบและดำเนินการเคลื่อนย้ายลงเข้าเก็บในบริเวณสถานที่ที่จำเลยได้เตรียมไว้ให้ ณ เลขที่ 44 หมู่ 2 ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เมื่อเป็นเช่นนี้หนังสือเสนอราคาเอกสารหมาย จ.4 ที่โจทก์มีไปถึงจำเลยย่อมเป็นคำเสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 355 ส่วนหนังสือแต่งตั้งและว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรและนำเครื่องจักรไปส่งให้จำเลยเอกสารหมาย จ.5 ที่จำเลยมีไปถึงโจทก์หลังได้รับคำเสนอแม้จะไม่ได้อ้างถึงหนังสือเสนอราคาเอกสารหมาย จ.4 แต่ก็มิได้มีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยแต่อย่างใด จึงย่อมป็นคำสนองตามมาตรา 359 วรรคสอง และเมื่อคำบอกกล่าวสนองของจำเลยไปถึงโจทก์ผู้เสนอแล้ว ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นตามมาตรา 361 วรรคแรก และเป็นสัญญาต่างตอบแทน ที่จำเลยอ้างว่าได้เจรจากับโจทก์ตกลงราคาค่าขนส่งตามอัตรา ร.ส.พ. ก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฉะนั้น เมื่อโจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีความผูกพันต้องชำระหนี้ค่าจ้างแก่โจทก์เป็นการตอบแทนตามมาตรา 369 ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยประการต่อมาที่ว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดโดยยกเอาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 ลักษณะจ้างทำของมาปรับแก่คดี จำเลยย่อมมีสิทธิยกเอาข้อกฎหมายขึ้นต่อสู้อุทธรณ์ฎีกาต่อมาตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ลักษณะการจ้างตามข้อเท็จจริงที่เกิดในคดีนี้ไม่เข้าลักษณะจ้างทำของ แต่เข้าลักษณะตัวแทน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยจะต้องเบิกจากจำเลยตามความเป็นจริงนั้น เห็นว่า ในสัญญาตัวแทน ตัวการและตัวแทนมักมีความเกี่ยวพันกันเป็นส่วนตัวหรือตามหน้าที่การงาน มาตรา 803 จึงวางหลักไว้ว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จจากกิจการที่ตนทำไปแทนตัวการ แต่สำหรับสัญญาจ้างทำของนั้น มีอยู่เสมอที่ว่าผู้จ้างและผู้รับจ้างมิได้รู้จักผูกพันกันมาก่อนเหตุที่ทำสัญญากันก็เนื่องมาจากผู้ว่าจ้างต้องการผลสำเร็จของงานซึ่งผู้รับจ้างมีความถนัดและมักประกอบเป็นอาชีพโดยหวังสินจ้างเป็นสำคัญอันเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าการบริการคดีนี้โจทก์และจำเลยไม่รู้จักเกี่ยวพันกันมาก่อนต่างเป็นนิติบุคคลโดยเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการค้าการให้บริการโดยมุ่งหวังผลกำไร สัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยเห็นได้ชัดว่าเป็นสัญญาจ้างทำของคำให้การของจำเลยก็ยืนยันไว้ชัดว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์การแต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อออกของและนำเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้ผ่านพิธีการแล้วขึ้นรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่มาส่งให้จำเลยที่ต่างจังหวัดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 คัน ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จตามมาตรา 587 นั่นเอง สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อกำหนดว่าในการขนส่งโจทก์จะต้องใช้รถของ ร.ส.พ. เท่านั้น จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือเสนอราคาหรือเสนอบริการเอกสารหมาย จ.4 ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share