คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีของลูกจ้างต้องอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 29 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป สิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่จะมีขึ้นเมื่อมีการเลิกจ้าง การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างนำค่าครองชีพมารวมจ่ายเป็นค่าจ้างอัตราใหม่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 เป็นต้นมา ไม่ได้ทำให้ลูกจ้างซึ่งเข้าทำงานก่อนวันดังกล่าวและยอมรับการกระทำเช่นนั้นของจำเลยต้องเสียสิทธิที่มีอยู่เดิม ส่วนลูกจ้างที่เข้าทำงานหลังวันดังกล่าวก็จะได้รับค่าจ้างในอัตราที่รวมค่าครองชีพเข้าด้วยแล้ว การนำค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งแปดฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และในวันหยุดตามประเพณี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกับค่าครองชีพ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ปรับค่าครองชีพรวมเป็นค่าจ้างแล้วฟ้องที่เรียกเอาค่าทำงานในวันหยุดขาดอายุความ และการเลิกจ้างเป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีที่มีอยู่ก่อนวันที่ 10 มกราคม 2531 นั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8) โจทก์ทั้งแปดคงมีสิทธิได้รับเงินสำหรับการทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉพาะที่มีอยู่ระหว่างวันที่ 10 มกราคม2531 ถึงวันเลิกจ้างสำหรับค่าครองชีพ จำเลยที่ 1 ได้ปรับค่าครองชีพโดยเอาค่าครองชีพที่จำเลยที่ 1 เคยจ่ายมารวมเป็นค่าจ้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2524 และเมื่อจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้ครบถ้วนแล้วจึงไม่ต้องจ่ายค่าครองชีพเพิ่มเติมอีก โจทก์ทั้งแปดไม่มีสิทธิได้รับค่าครอบชีพตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งแปด คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ปัญหาแรกว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าทำงานในวันหยุดก่อนวันที่ 10 มกราคม2531 ขาดอายุความนั้นไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะโจทก์ทั้งแปดได้ทำงานกับจำเลยตลอดมา จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดวันที่ 31 ตุลาคม 2532เมื่อนับระยะเวลาจนถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 มกราคม 2533) เพียง3 เดือนเท่านั้น จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(8) เห็นว่า โจทก์ทั้งแปดฟ้องเรียกเอาค่าทำงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำสัปดาห์ และค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าทำงานสำหรับกรณีดังกล่าวนั้นเมื่อโจทก์ทั้งแปดได้ทำงานวันหยุดประจำสัปดาห์วันใด หรือทำงานในวันหยุดตามประเพณีวันใด เมื่อการทำงานได้ผ่านพ้นไปแล้ว โจทก์ทั้งแปดก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดดังกล่าวได้ตามกำหนดเวลาที่มีการจ่ายค่าจ้าง ดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 29 ดังนั้นกรณีของโจทก์ทั้งแปดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าวอันเป็นวันที่โจทก์ทั้งแปดอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 มิใช่ว่าจะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี ต่อมาเมื่อมีการเลิกจ้างดังที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์
โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ในประการต่อมาว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1ที่ให้ปรับค่าครองชีพของโจทก์มารวมเป็นค่าจ้างไม่มีผลใช้บังคับในปัญหานี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงมีว่า เงินค่าครองชีพซึ่งจ่ายตามระเบียบ พ.ศ. 2522 ได้ยกเลิกและปรับรวมเป็นค่าจ้างตามคำสั่งที่ 28/2524 และมีคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 28/2524 เรื่องการปรับปรุงอัตราค่าจ้างพนักงาน ลงวันที่ 30 กันยายน 2524 มาแสดงทั้งโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2524 มีการปรับค่าแรงให้ รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปรับค่าครองชีพโดยเอาค่าครองชีพที่เคยจ่ายมารวมจ่ายเป็นค่าจ้างแล้ว ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาดังกล่าวนั้นแสดงว่าโจทก์ทั้งแปดได้ยอมรับเอาการที่จำเลยที่ 1 นำเอาค่าครองชีพมารวมจ่ายเป็นค่าจ้างตลอดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2524 กรณีของโจทก์ที่เข้าทำงานก่อนวันดังกล่าวนั้นถือได้ว่าได้ยอมรับเอาการที่จำเลยที่ 1 ค่าครองชีพมารวมกับค่าจ้างเดิมเป็นค่าจ้างในอัตราใหม่ ตามคำสั่งดังกล่าวแล้วซึ่งการสั่งดังนั้นโจทก์มิได้เสียสิทธิที่มีอยู่เดิมแต่ประการใดกรณีจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนโจทก์ที่เข้าทำงานหลังวันดังกล่าวก็จะมีแต่ค่าจ้างในอัตราที่รวมค่าครองชีพเข้าด้วยแล้ว จึงไม่มีข้อที่จะอ้างได้ว่า การปรับค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิพากษายืน.

Share