คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6385/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่า จะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออด ซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็น จึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ยังไปบ้านโจทก์ที่ 2 จำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ถือเอาเรื่องดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและโกรธเคืองโจทก์ที่ 2 การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1440 (2) และสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากจำเลยทั้งสองอ้างว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วยแต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองได้สู่ขอโจทก์ที่ 2 จากโจทก์ที่ 1 เพื่อให้สมรสกับจำเลยที่ 2 โดยมอบสร้อยคอทองคำ หนัก 4 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นของหมั้น และตกลงจะให้สินสอดเป็น 60,000 บาท กับสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ในวันทำการสมรส แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส 80,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นเนื่องจากในวันหมั้นทั้งสองฝ่ายมิได้กำหนดวันทำการสมรสไว้ ต่อมาโจทก์ที่ 2 บุกรุกเข้าไปในบ้านจำเลยทั้งสองและงัดกลอนประตูห้องนอน จากนั้นใช้อาวุธมีดไล่ฟันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และสามีห้ามปรามแต่โจทก์ที่ 2 ไม่เชื่อฟัง ถือว่ามีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สมควรสมรสด้วย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 คืนสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท แก่จำเลยที่ 2 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 24,000 บาท
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองมิได้ผิดสัญญาหมั้นจึงไม่จำต้องคืนของหมั้นให้จำเลยทั้งสอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 70,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นมารดาจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 จำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปสู่ขอโจทก์ที่ 2 จากโจทก์ที่ 1 เพื่อให้สมรสกับจำเลยที่ 2 ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 2 มอบสร้อยคอทองคำหนัก 4 บาทให้โจทก์ที่ 2 เป็นของหมั้น จำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดเป็นเงิน 60,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ในวันที่มีการแต่งงานกันตามประเพณี ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ที่ 1 บอกให้โจทก์ที่ 2 ไปนัดหมายจำเลยที่ 2 เพื่อให้มาช่วยสูบน้ำรดข้าวโพด ในวันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ 2 ไปรับจำเลยที่ 2 ตามที่ได้นัดหมายไว้ เมื่อไปถึงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ตื่นนอน โจทก์ที่ 2 จึงปลุกให้ตื่น เมื่อตื่นนอนแล้วจำเลยที่ 2 ปฏิเสธที่จะไปช่วยรดน้ำข้าวโพดและได้หลบเข้าไปในห้องนอน โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูเข้าไป จำเลยที่ 2 จึงกระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน โจทก์ที่ 2 วิ่งไล่ตาม ในที่สุดไล่ทันกัน จากนั้นโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 พากันไปที่ไร่ข้าวโพดของโจทก์ที่ 1 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นแต่ละฝ่ายต้องรับผิดต่ออีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด จำเลยทั้งสองฎีกาในทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูเข้าไปในห้องนอนของจำเลยที่ 2 แล้วแกว่งมีดไปมา เมื่อจำเลยที่ 2 กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน โจทก์ที่ 2 ยังถือมีดวิ่งไล่ตาม และยังตบหน้าจำเลยที่ 2 อีกด้วย ทำให้จำเลยที่ 2 อับอาย การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวถือเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงซึ่งทำให้ชายคือจำเลยที่ 2 ไม่สมควรสมรสด้วย โจทก์ทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นหาใช่จำเลยทั้งสองไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 2 ตกลงหมั้นหมายกับจำเลยที่ 2 นั้น แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ประสงค์ที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับจำเลยที่ 2 และในฐานะคู่หมั้นโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นฝ่ายหญิงย่อมต้องคาดหวังในตัวจำเลยที่ 2 ว่าจะเป็นผู้ที่สามารถนำพาครอบครัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปสู่ความเจริญและมั่นคง การที่โจทก์ที่ 2 พยายามปลุกจำเลยที่ 2 ให้ตื่นเพื่อให้ไปช่วยรดน้ำข้าวโพดอันเป็นงานที่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 จะช่วยเหลือได้ แต่จำเลยที่ 2 กลับอิดออดซ้ำยังหลบเข้าไปในห้อง เมื่อโจทก์ที่ 2 ตามเข้าไปก็กระโดดหนีออกทางประตูหลังบ้าน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 หาได้เอาใจใส่ช่วยเหลือคู่หมั้นของตนตามที่ควรจะเป็นจึงย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ที่ 2 จะรู้สึกไม่พอใจและแสดงออกซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าว ส่วนการที่โจทก์ที่ 2 ใช้มีดงัดกลอนประตูห้อง รวมทั้งการวิ่งไล่ตามและตบหน้าจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น หาใช่เป็นนิสัยที่แท้จริงของโจทก์ที่ 2 ไม่ ทั้งนี้เพราะจำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 2 รู้จักกันมาตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายยังเป็นเด็กย่อมต้องทราบนิสัยใจคอของกันและกันเป็นอย่างดี หากโจทก์ที่ 2 มีความประพฤติไม่ดีจำเลยที่ 2 คงไม่ไปขอหมั้นโจทก์ที่ 2 เป็นแน่ หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็พากันไปที่ไร่ข้าวโพด และหลังจากนั้นก็ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ยังไปที่บ้านโจทก์ที่ 2 ทั้งยังได้เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า แม้จะถูกตบแต่ก็ไม่ได้รู้สึกโกรธโจทก์ที่ 2 แสดงว่าจำเลยที่ 2 หาได้ถือเอาเรื่องที่ถูกโจทก์ที่ 2 วิ่งไล่ตามและตบหน้าเป็นสาระสำคัญไม่ ในส่วนจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามว่าหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 พยายามไกล่เกลี่ยให้จำเลยที่ 2 สมรสกับโจทก์ที่ 2 อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะมารดาจำเลยที่ 2 ก็หาได้ถือโทษโกรธเคืองโจทก์ที่ 2 เช่นกัน การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นอันทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องคืนของหมั้น และมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าใช้จ่ายอันสมควรในการเตรียมการสมรสได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 (2) ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในทำนองว่า สัญญาหมั้นมิได้กำหนดวันสมรสไว้จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ได้นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้ให้การและฎีกาในทำนองว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมสมรสกับโจทก์ที่ 2 นั้น เนื่องจากมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่โจทก์ที่ 2 ดังนั้น กำหนดวันสมรสจึงไม่ใช่ข้อสำคัญที่จะนำมาพิจารณาว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการหมั้นดังกล่าวได้กำหนดวันสมรสไว้ล่วงหน้าหรือไม่สำหรับที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกสินสอดมาด้วยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิงแล้วแต่กรณีเพื่อตอบแทนการที่หญิงยินยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองตกลงว่าจะให้สินสอดแก่โจทก์ที่ 1 เพื่อตอบแทนการที่โจทก์ที่ 2 ยอมสมรสด้วย แต่การสมรสระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกสินสอดจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าสินสอดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธขอให้ยกฟ้อง ส่วนตามฟ้องแย้งก็ไม่ได้ขอให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และการที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องแย้งโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งเป็นการไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ ภาค 6 ไม่ได้แก้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตชั้นอุทธรณ์และฎีกาแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share