คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตาม แต่ในเวลานั้น ฉ. ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่ง ฉ. สามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยเปิดทางกว้าง 2.50 เมตร นั้น ก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันแล่นเข้าออกได้โดยสะดวก การที่จำเลยจะขอให้เปิดทางให้โจทก์กว้างเพียง 2 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ไม่สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์และความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงน่าจะเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 1 งาน 94 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์ซื้อมาจากนางแฉล้มและมีทางออกสู่ทางสาธารณะทางที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ต่อมาปี 2523 จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้น ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์โอนขายที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 จำนวน 300 ตารางวา แก่จำเลย มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ออกเป็นโฉนดเลขที่ 79060 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หลังจากแบ่งแยกที่ดินขายให้แก่จำเลยไปแล้ว ทำให้ที่ดินทั้ง 2 แปลง ของโจทก์ไม่ติดต่อกัน และตกอยู่ในวงล้อมของที่ดินแปลงอื่น ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางเป็นถนนออกจากที่ดินของโจทก์ทั้ง 2 แปลง โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลย มีความกว้าง 6 เมตร เพื่อใช้เป็นทางให้รถบรรทุกเข้าไปขนส่งวัสดุสินค้าในที่ดินทั้ง 2 แปลง ของโจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยเปิดทางจำเป็นแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นเพื่อสร้างถนนความกว้าง 6 เมตร จากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 17419 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม และโฉนดเลขที่ 12253 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ผ่านที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 79060 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ไปจนถึงทางสาธารณประโยชน์ตามที่ปรากฏในแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง สำหรับรถบรรทุกใช้เป็นทางเข้าออกขนส่งวัสดุสินค้า โดยห้ามจำเลยทำสิ่งกีดขวางใดอันทำให้ความสะดวกลดน้อยลง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่อาจอ้างเพื่ออาศัยสิทธิตามกฎหมายที่จะผ่านที่ดินของจำเลยตามฟ้อง กล่าวคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ของโจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์โดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 12255 ของโจทก์อีกแปลงหนึ่งและผ่านต่อไปยังที่ดินโฉนดเลขที่ 16529 ออกไปยังถนนสาธารณประโยชน์ คือ ถนนทรงพลได้โดยสะดวกไม่มีเหตุใดต้องผ่านที่ดินของจำเลย และปัจจุบันโจทก์และเครือญาติได้ดำเนินการปลูกสร้างอาคารให้บุคคลอื่นเช่าอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 และใช้ทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินดังกล่าวของโจทก์เป็นประจำ ที่ดินของจำเลยจึงไม่ใช่ทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์เป็นที่ดินที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 81 ซึ่งเดิมก่อนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 81 ดังกล่าว มีทางออกสู่ทางสาธารณะด้านทิศเหนือติดถนนทรงพลและตอนกลางของที่ดินถูกตัดแบ่งเป็นถนนราชมรรคา ซึ่งโฉนดเลขที่ 81 ได้มีการแบ่งแยกเป็นหลายแปลงและมีการโอนกันต่อมา ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ต้องดำเนินการเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 81 โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน โจทก์ไม่มีอำนาจเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลย เนื่องจากที่ดินของจำเลยไม่ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 81 หากต้องเปิดทางจำเป็นบนที่ดินของจำเลยกว้างถึง 6 เมตร จะทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือของจำเลยไม่สามารถทำประโยชน์อื่นใดได้ อย่างมากควรเปิดทางเพียงประมาณ 2 เมตร สำหรับให้รถยนต์เข้าออกได้เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ของจำเลยทางทิศตะวันตกด้านที่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ของโจทก์ทางทิศใต้ตลอดแนวไปจนจรดทางสาธารณประโยชน์กว้างประมาณ 3 เมตร ตกเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ดังกล่าว ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางกว้าง 2.5 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ของจำเลย เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม ของโจทก์ ในการรังวัดทางจำเป็นดังกล่าวให้ถือเอาตามแผนที่เอกสารหมาย จ.6 เป็นหลัก โดยความกว้างให้วัดจากจุด ก ซึ่งติดทางสาธารณประโยชน์ไปทางทิศตะวันตกตามแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ให้ได้ 2.5 เมตร ถึงจุดหนึ่งแล้วให้วัดความยาวโดยวัดต่อจากจุดนั้นขึ้นไปทางทิศเหนือให้ขนานกับเส้น กข ซึ่งเป็นแนวเขตที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันออก ไปจนถึงที่ดินของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม นายสักการบุตรของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 และเลขที่ 12253 ตำบลพระปฐมเจดีย์ (สระน้ำจัน) อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เป็นที่ดินที่มีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โจทก์ซื้อมาจากนางแฉล้มพร้อมกันเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2523 ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ให้แบ่งขายที่ดินแก่จำเลยตามคำมั่น ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์โอนขายแก่จำเลยตามคำมั่นโดยไม่มีการรังวัดแบ่งแยกจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 เนื้อที่ 2 งาน 99 ตารางวา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ที่ดินส่วนนี้เป็นที่ดินที่อยู่ทางเหนือของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 (ล.6) ซึ่งมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร อยู่ในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกนี้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ หลังการแบ่งแยกจึงทำให้คงมีเพียงที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ที่แบ่งแยกเท่านั้นที่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 (ที่เหลือจากการแบ่งแยก) และ จ.2 กลายเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 (ล.6) เดิมเป็นที่ดินที่อยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 81 ตำบลสระน้ำจัน อำเภอพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 12 ไร่เศษ ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 ทิศเหนือติดถนนทรงพล ซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์ ต่อมาได้มีการแบ่งแยกเป็นที่ดินหลายโฉนด เฉพาะการแบ่งแยกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2506 ได้แบ่งแยกออก 5 แปลง เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 12252, 12253, 12254, 12250 และ 12251 ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5, ล.6, ล.7, ล.8 และ ล.9 ตามลำดับ โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ตามเอกสารหมาย ล.6 แบ่งแยกไปในนามนางแฉล้ม เมื่อแบ่งแยกแล้วทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีส่วนใดติดถนนสาธารณะ และไม่มีทางออกสู่ถนนราชมรรคาที่ตัดผ่านกลางที่ดินโฉนดเลขที่ 81 เพราะถูกที่ดินที่แบ่งแยกไปในคราวเดียวกันปิดบัง ตามรูปจำลองแผนที่ท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 (แผ่นที่ 3) แต่ที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.6 ที่แบ่งแยกไปนี้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้มีเขตติดต่อเป็นผืนเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ตามเอกสารหมาย จ.1 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) ซึ่งมีชื่อนางแฉล้มเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เช่นกัน นางแฉล้มจึงใช้ทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ตามแผนที่ระวางเอกสารหมาย จ.9 มาโดยตลอด เมื่อโจทก์ซื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จากนางแฉล้มแล้ว โจทก์ก็ยังคงใช้ทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ต่อมา จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโอนขายให้จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงทำให้โจทก์ใช้ทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้เปิดทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางจำเป็นของที่ดินโจทก์ทั้งสองแปลงในคดีนี้ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่ามีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยผ่านที่ดินแปลงอื่นของโจทก์เองได้อยู่แล้ว โจทก์ไม่อาจขอเปิดทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยได้ตามฟ้องนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์มีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 79060 ตามเอกสารหมาย จ.4 ให้เป็นทางจำเป็นในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 12253 ตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์จะเคยติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 ของโจทก์อีกแปลงหนึ่ง ทำให้ขณะนั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ก็ตามก็ไม่ทำให้สิทธิที่จะขอให้เปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 หมดไป เมื่อภายหลังจำเลยได้แบ่งแยกที่ดินออกมาจากที่ดินของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาทำให้ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 12253 ซึ่งเดิมมีทางพิพาทเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะกลับไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงต้องฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้เฉพาะกับที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกแบ่งโอนมาด้วยกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า การอ้างสิทธิที่จะผ่านที่ดินของบุคคลอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่ดินที่แบ่งแยกออกมานั้นจะต้องไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ตามเอกสารหมาย จ.2 แบ่งแยกหรือแบ่งโอนมาจากที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 81 ตามเอกสารหมาย ล.4 ทำให้ที่ดินแปลงนี้ถูกที่ดินที่แบ่งแยกในคราวเดียวกันปิดล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ตามรูปจำลองแผนที่ท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 (แผ่นที่ 3) ก็ตาม แต่ในเวลานั้นนางแฉล้มซึ่งเป็นเจ้าของผู้ได้รับที่ดินจากการแบ่งแยกยังเป็นเจ้าของที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งอยู่ติดกับที่ดินแปลงที่ได้รับการแบ่งแยกทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 (ก่อนการแบ่งแยกตามคำพิพากษาศาลฎีกา) และที่ดินโฉนดเลขที่ 17419 เดิมนั้นมีทางพิพาทกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งนางแฉล้มสามารถใช้ทางพิพาทในที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะของที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ได้ จึงถือได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ที่แบ่งแยกออกมานั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยทางอื่นได้อยู่แล้ว สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกมาในคราวเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ย่อมหมดไปตั้งแต่นั้นแล้ว แม้ต่อมาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 17419 เดิมจะถูกบังคับให้แบ่งแยกและบังคับให้โอนขายแก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลฎีกา ทำให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอีกครั้ง โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ก็จะกลับไปใช้สิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนตามมาตรา 1350 อีกไม่ได้ คงมีสิทธิที่จะผ่านที่ดินแปลงใดแปลงหนึ่งซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ในฐานะทางจำเป็นตามมาตรา 1349 เท่านั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า การใช้ทางพิพาทบนที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะซึ่งโจทก์เคยใช้ผ่านมาก่อนมีระยะทางเพียง 50 เมตร แต่หากใช้เส้นทางอื่นผ่านที่ดินแปลงที่แบ่งแยกมาด้วยกันในครั้งก่อนเพื่อออกทางถนนราชมรรคาต้องใช้ระยะทางถึง 100 เมตรเศษ ซึ่งไกลกว่ากันถึงหนึ่งเท่าตัวเช่นนี้ทางพิพาทย่อมสะดวกและเหมาะสมที่จะเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์กว่าทางอื่น โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เปิดทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 79060 ของจำเลยเป็นทางจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 12253 ของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์ชอบที่จะขอให้จำเลยเปิดทางผ่านที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นกว้างเพียงใด จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาให้เปิดทางกว้าง 2.50 เมตร จำเลยเห็นว่ามากเกินไป ถ้าเปิดให้เพียง 2 เมตร ก็น่าจะสามารถนำรถยนต์เข้าออกได้แล้วนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยเปิดทางกว้าง 2.50 เมตร นั้นก็เพื่อที่จะให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบันแล่นเข้าออกได้โดยสะดวกการที่จำเลยจะขอให้เปิดทางให้โจทก์กว้างเพียง 2 เมตร ย่อมทำให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ไม่สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมแก่สภาพการณ์และความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว การกำหนดให้จำเลยเปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นมีขนาดกว้าง 2.50 เมตร เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้จึงน่าจะเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share