คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงขอสละประเด็นข้อพิพาททุกข้อคงเหลือเพียงข้อเดียวว่าโจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ แสดงว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่น ๆ ทั้งหมด คงให้ศาลสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ ฉะนั้นหากสืบพยานเสร็จฟังได้ว่าโจทก์รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้า ฟังได้ว่าไม่ได้รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลยก็ต้องพิพากษาบังคับให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง มิใช่ว่าแม้จะพิจารณาได้ความอย่างไรคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาจึงชอบที่จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ มิได้ฎีกาขอให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง ทั้งประเด็นค่าเสียหายโจทก์จำเลยก็สละแล้ว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสองร้อยบาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 2(ก).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้ารับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ และให้จำเลยที่ 7 รับรองแนวเขตทางด้านทิศตะวันออกให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยทั้งเก้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10,000บาท กับค่าเสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การว่า โจทก์ทำการรังวัดที่ดินของโจทก์แต่รังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่ยอมให้ทำการรังวัดและต้องคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์ การคัดค้านของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 4 ข้อ ต่อมาโจทก์จำเลยขอสละประเด็นข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 4 คงเหลือประเด็นข้อ 3 เพียงข้อเดียวว่า โจทก์รังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ โดยให้โจทก์นำสืบก่อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์ได้ 1 ปาก แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่า ปัญหาตามประเด็นข้อพิพาทซึ่งมีว่า โจทก์รังวัดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่นั้น แม้จะพิจารณาได้ความอย่างไร คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานที่ดินสามารถทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 69 ทวิ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในชั้นชี้สองสถาน ศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า 1) ที่ดินตาม น.ส.3 ของโจทก์มีเนื้อที่เท่าใดและมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของผู้ใดบ้าง 2) ข้อตกลงระหว่างนางพยุง กระบิลใช้ยันโจทก์จำเลยได้หรือไม่ เพียงใด ถ้าใช้ได้จำเลยผิดข้อตกลงกับโจทก์หรือไม่3) โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ 4) โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ต่อมาก่อนสืบพยานคู่ความแถลงขอสละประเด็น ข้อ 1, 2และ 4 คงเหลือประเด็นข้อ 3 เพียงข้อเดียวว่า โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ดังนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่น ๆทั้งหมด คงให้ศาลสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นข้อ 3 ข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ ฉะนั้น หากสืบพยานเสร็จฟังได้ว่า โจทก์รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้าฟังได้ว่าไม่ได้รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ก็ต้องพิพากษาบังคับให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง มิใช่ว่าแม้จะพิจารณาได้ความอย่างไร คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ศาลชั้นต้นจะต้องสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นที่ว่า โจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ มิได้ฎีกาขอให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง ทั้งประเด็นค่าเสียหายโจทก์จำเลยก็สละเสียแล้ว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสองร้อยบาทตามตาราง 1 ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 2(ก) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมา 250 บาท เป็นการไม่ถูกต้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยในประเด็นดังกล่าวต่อไปให้สิ้นกระแสความ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาให้คืนแก่โจทก์”.

Share