แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 10 เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของข้าราชการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่า ผู้ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องไม่เป็นชาวไร่อ้อย กรรมการผู้จัดการ หรือพนักงานหรือลูกจ้างของโรงงานเท่านั้น ส่วนมาตรา 11 เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยคุณสมบัติ ฯลฯ(5) ไม่เป็นข้าราชการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง (6) ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง การแต่งตั้งข้าราชการแม้เป็นวุฒิสมาชิกแต่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 10 จึงมิได้มีข้อห้ามในการเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรรมการที่มาจากข้าราชการ 3 กระทรวง ซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งนั้นพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการแต่งตั้งดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดว่าให้ระบุชื่อเฉพาะของข้าราชการนั้น ๆ และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นใดบังคับว่าการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นกรรมการจะต้องระบุชื่อโดยเฉพาะทั้งตามระเบียบบริการราชการแผ่นดินการแต่งตั้งข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษอื่นใด ย่อมแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่งได้โดยถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่งนั้นเป็นตัวแทนของส่วนราชการหน่วยนั้น ๆ และเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตำแหน่ง ไม่ติดตัวและสิ้นสภาพไปเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นตาย โอนย้ายหรือลาออกจากราชการไป ฉะนั้นหากผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่ ผู้อยู่ในลำดับรองลงไปก็สามารถรับมอบหมายให้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ การแต่งตั้งจึงชอบแล้ว การออกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 แม้ชื่อระเบียบดังกล่าวจะไม่มีคำว่าเงินรางวัลนำจับแต่ข้อกำหนดในระเบียบดังกล่าวก็ได้กำหนดระเบียบการจ่ายเงินรางวัลนำจับ การแจ้งความและการรับเงินรางวัลนำจับไว้โดยละเอียดแล้วและการกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับดังกล่าวเนื่องจากพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17(25) บัญญัติให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีหน้าที่กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการจึงมีอำนาจที่จะกำหนดระเบียบที่สอดคล้องและไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าวการที่คณะกรรมการได้นำข้อความตามมาตรา 44 บางส่วนมากำหนดเป็นระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในมาตรา 17(25) และการกำหนดเบี้ยปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นบทบังคับทางแพ่งเฉพาะโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และกำหนดให้ชำระเฉพาะเงินเบี้ยปรับ มิได้มีการลงโทษทางอาญาแต่ประการใด ส่วนพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นบทบังคับบุคคลหรือนิติบุคคลรวมทั้งโรงงานซึ่งหมายความถึงผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งและประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายด้วยและบทบังคับมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับอันเป็นโทษทางอาญา ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับจึงมิใช่การลงโทษซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ได้มีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้เห็นชอบในหลักการ จึงได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบถึงการออกระเบียบดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้วระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ดังกล่าวจึงถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนตามตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ตามนัยมาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่าในระหว่างที่ยังไม่มีสถาบันชาวไร่อ้อยที่จะเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แต่งตั้งผู้ซึ่งปลูกอ้อยเพื่อขายให้แก่โรงงานเป็นผู้แทนชาวไร่อ้อยและมาตรา 11 วรรคสี่ การเสนอและการถอดถอนผู้แทนชาวไร่อ้อยให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต่อมารัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุนคณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราย โดยให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆดังกล่าว เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ระเบียบดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ยังไม่มีกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ คณะกรรมการชุดเดิมจึงมีอำนาจดำเนินงานประชุมและลงมติได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้มอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน จ. รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ฉ. รองปลัดกระทรวงพาณิชย์แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์และ ป.รองอธิบดีกรมการค้าภายในแทนอธิบดีกรมการค้าภายในทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บังคับบัญชาในกระทรวงที่ตนสังกัดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนกันโดยชอบด้วยกฎหมายบุคคลดังกล่าวจึงมีอำนาจเข้าร่วมประชุมแทนได้ โจทก์ฟ้องว่าคณะกรรมการบริหารมีมติให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับเป็นเงิน 32,786,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมาฟ้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 58 ขอให้ศาลเพิกถอนมติและคำวินิจฉัยดังกล่าวที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับ ผลของคำพิพากษาก็คือเมื่อโจทก์ชนะคดี ทำให้โจทก์ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวกรณีจึงเป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้มีคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และคณะกรรมการบริหาร ในการซื้ออ้อยไปทำน้ำตาล โรงงานน้ำตาลต้องซื้ออ้อยตามราคาที่คณะกรรมการบริหารคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและคณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด อ้อยเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวไร่อ้อย กรรมสิทธิ์ในอ้อยและน้ำตาลทรายจึงตกเป็นของโรงงานน้ำตาลทรายผู้ซื้อ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2528คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ออกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 โดยไม่ชอบ เพราะกรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทรายเป็นของโรงงานน้ำตาลทรายจึงเป็นการออกระเบียบที่ขัดแย้งต่อกฎหมาย เป็นการลงโทษซ้ำซ้อน และเป็นการที่ฝ่ายบริหารใช้อำนาจตุลาการเสียเอง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 5ได้แจ้งมติคณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 22/2531 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 อ้างว่าโจทก์ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ของฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ2529/2530 ออกจากโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 16,293 กระสอบฝ่าฝืนระเบียบต้องชำระเบี้ยปรับอัตรากระสอบละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 32,586,000 บาท และอ้างว่าโจทก์รายงานปริมาณน้ำตาลทรายขาวที่ผลิตได้ในฤดูการผลิตปี 2529/2530 ไม่ตรงความจริง ต้องชำระค่าเบี้ยปรับเป็นเงิน 200,000 บาท การมีมติดังกล่าวกระทำไปโดยไม่ชอบเพราะเป็นการถือความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมาย มิใช่คณะอนุกรรมการที่ตั้งโดยมีสัดส่วนประกอบด้วยฝ่ายราชการ ฝ่ายชาวไร่อ้อยและฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย อีกทั้งตามข้อเท็จจริง โจทก์มิได้ลักลอบขนย้ายน้ำตาลทราย ทั้งโจทก์ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในน้ำตาลทรายการที่ปริมาณน้ำตาลทรายในบัญชีไม่ตรงเป็นเพียงความคลาดเคลื่อนในทางบัญชี โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย แต่คณะกรรมการได้ประชุมโดยมิชอบไม่ครบองค์ประชุมแล้วมีมติยกอุทธรณ์โจทก์เบี้ยปรับที่ให้โจทก์ชำระสูงเกินส่วนและไม่ขัดต่อกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าน้ำตาลทรายที่โจทก์ผลิตได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ คำสั่งหรือมติคณะกรรมการบริหาร ครั้งที่22/2531 วันที่ 10 พฤศจิกายน 2531 และคำสั่งหรือมติหรือคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์โจทก์ของคณะกรรมการไม่มีผลใช้บังคับและเป็นโมฆะระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1พ.ศ. 2528 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2528 ไม่มีผลบังคับและเป็นโมฆะเบี้ยปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวมีอัตราสูงเกินควร อัตราเบี้ยปรับควรจะมีเพียงไม่เกิน 50,000 บาท
โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 200 บาท โดยถือว่าเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องเพื่อที่โจทก์จะได้ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 32,786,000 บาท จึงให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มให้ครบจำนวน 200,000 บาท โจทก์ได้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มอีก199,800 บาท และได้ยื่นคำร้องว่า คดีนี้เป็นคดีขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ทั้งเป็นคดีปกครอง ค่าขึ้นศาลเพียงเพียง 200 บาท ขอให้คืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเกินให้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจะพิจารณาสั่งในคำพิพากษา
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้เป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ไม่ได้ร่วมเกี่ยวข้องกับมติหรือมีอำนาจที่จะเพิกถอนมติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 การที่คณะกรรมการบริหารทำการประชุมเป็นการประชุมโดยชอบ ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 เป็นระเบียบที่ผ่านขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นโมฆะ การใช้อำนาจปรับก็มิใช่เป็นการใช้อำนาจตุลาการการพิจารณาอุทธรณ์กระทำโดยชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่โจทก์ขอคืนค่าขึ้นศาลนั้นศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์เป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150โจทก์จะขอให้คืนเงินค่าขึ้นศาลส่วนที่วางเกิน 200 บาท หาได้ไม่
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การแต่งตั้งนายประภาศจักกระพาก ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ในขณะที่นายประภาสดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองขัดต่อมาตรา 13(5) แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 13(5) กำหนดให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 หรือมาตรา 11 แล้วแต่กรณีมาตรา 10 เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของข้าราชการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าผู้ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องไม่เป็นชาวไร่อ้อย กรรมการผู้จัดการ หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของโรงงาน ส่วนมาตรา 11เป็นบทกำหนดคุณสมบัติของผู้แทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยคุณสมบัติฯลฯ (5) ไม่เป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง (6)ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองนายประภาสเป็นข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องพิจารณาคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 10 ซึ่งมิได้มีข้อห้ามเป็นข้าราชการการเมืองหรือดำรงตำแหน่งในทางการเมือง นายประภาสจึงไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
ที่โจทก์ฎีกาว่า การแต่งตั้งผู้แทนฝ่ายราชการตามเอกสารหมาย จ. 52 เป็นการแต่งตั้งตามตำแหน่งราชการ ซึ่งตามมาตรา 9ไม่อาจแต่งตั้งโดยตำแหน่งทางราชการได้ จึงเป็นการแต่งตั้งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในส่วนกรรมการที่มาจากข้าราชการ 3 กระทรวงซึ่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแต่งตั้งนั้น พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีการแต่งตั้งดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดว่าให้ระบุชื่อเฉพาะของข้าราชการนั้น ๆ และไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นใดบังคับว่าการแต่งตั้งข้าราชการให้เป็นกรรมการจะต้องระบุชื่อโดยเฉพาะ ทั้งตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินการแต่งตั้งข้าราชการให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษอื่นใด ย่อมแต่งตั้งโดยระบุตำแหน่งได้โดยถือว่าผู้ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่งนั้นเป็นตัวแทนของส่วนราชการหน่วยนั้น ๆ และเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตำแหน่งไม่ติดตัวและสิ้นสภาพไปเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้นตายโอนย้ายหรือลาออกจากราชการไป ฉะนั้นหากผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่ผู้อยู่ในลำดับรองลงไปก็สามารถรับมอบหมายให้รักษาราชการแทนหรือปฏิบัติราชการแทนในตำแหน่งนั้น ๆ ได้ การแต่งตั้งจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า การออกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ระเบียบหรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ตามเอกสารหมาย จ.6 กำหนดเฉพาะเรื่องเบี้ยปรับโดยไม่ได้กำหนดเรื่องเงินรางวัลนำจับ จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 17(25)และระเบียบดังกล่าวเป็นการลงโทษซ้ำซ้อนกับมาตรา 44 นั้น เห็นว่าแม้ชื่อระเบียบดังกล่าวจะใช้คำว่า “ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับสำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศระเบียบ หรือพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 โดยไม่มีคำว่าเงินรางวัลนำจับ แต่ข้อกำหนดในระเบียบดังกล่าวข้อ 12 ถึง 20 ก็ได้กำหนดระเบียบการจ่ายเงินรางวัลนำจับ การแจ้งความและการรับเงินรางวัลนำจับไว้โดยละเอียด และการกำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับดังกล่าวเนื่องจากพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 17(25)บัญญัติให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีหน้าที่กำหนดระเบียบว่าด้วยเบี้ยปรับและเงินรางวัลสำหรับการนำจับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือประกาศที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการจึงมีอำนาจที่จะกำหนดระเบียบที่สอดคล้องและไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่คณะกรรมการได้นำข้อความตามมาตรา 44 บางส่วนมากำหนดเป็นระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในมาตรา 17(25) และการกำหนดเบี้ยปรับสำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้เป็นบทบังคับทางแพ่งเฉพาะโรงงานน้ำตาลทรายที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ และกำหนดให้ชำระเฉพาะเงินเบี้ยปรับมิได้มีการลงโทษทางอาญาแต่ประการใดส่วนพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นบทบังคับบุคคลหรือนิติบุคคลรวมทั้งโรงงานซึ่งหมายความถึงผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งและประกอบกิจการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายด้วยและบทบังคับมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับอันเป็นโทษทางอาญา ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับจึงมิใช่การลงโทษซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ดังที่โจทก์ฎีกา
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอันเป็นผลให้ระเบียบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลบังคับใช้ได้นั้น เห็นว่าระเบียบดังกล่าวได้มีการนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจและรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจได้เห็นชอบในหลักการ จึงได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบถึงการออกระเบียบดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ฉะนั้น ระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่าด้วยเบี้ยปรับ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2528 ดังกล่าวจึงถูกต้องและเป็นไปตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 17 แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อสามว่า มีเหตุเพิกถอนระเบียบ มติหรือคำสั่ง บันทึกความเห็นและคำวินิจฉัยตามฟ้องหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มอบหมายให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ตามนัยมาตรา 80 วรรคสอง ในระหว่างที่ยังไม่มีสถาบันชาวไร่อ้อยที่จะเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อย ให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แต่งตั้งผู้ซึ่งปลูกอ้อยเพื่อขายให้แก่โรงงานเป็นผู้แทนชาวไร่อ้อย และมาตรา 11 วรรคสี่ การเสนอและการถอดถอนผู้แทนชาวไร่อ้อยให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ต่อมารัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศระเบียบว่าด้วยการเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทรายโดยให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว ตามประกาศฉบับลงวันที่18 ตุลาคม 2527 เอกสารหมาย จ.39 แผ่นที่ 6 และ 7 การออกระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ระเบียบดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ในขณะพ้นวาระการเป็นกรรมการตามมาตรา 12 แล้วนั้นเห็นว่า มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ประธานกรรมการรองประธานกรรมการ และกรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี แต่วรรคสองบัญญัติว่า เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่งหากยังมิได้มีการแต่งหรือเสนอบุคคลอื่นเป็นกรรมการให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งหรือเสนอเข้ารับหน้าที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ ยังไม่มีกรรมการชุดใหม่เข้ารับหน้าที่คณะกรรมการชุดเดิมจึงมีอำนาจดำเนินงานประชุมและลงมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 และนายพชร อิศรเสนา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนฝ่ายราชการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายโดยบุคคลทั้งสองยังคงดำรงตำแหน่งวุฒิสภาอันเป็นตำแหน่งทางการเมืองจึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการตามมาตรา 13(5) ประกอบมาตรา 10, 11 นั้น เห็นว่า การพิจารณาคุณสมบัติผู้แทนฝ่ายราชการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายต้องพิจารณาตามมาตรา 13(5) ประกอบมาตรา 10 ซึ่งมิได้ห้ามการเป็นข้าราชการการเมืองดังได้วินิจฉัยมาแล้วในตอนต้น ดังนั้น บุคคลทั้งสองจึงไม่ขาดคุณสมบัติตามที่โจทก์ฎีกา
ที่โจทก์ฎีกาว่า การประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532 ตามเอกสารหมาย จ.28มีกรรมการไม่ครบองค์ประชุม เพราะนายจำนงค์ พนัสจุฑาบูลย์นายเฉลิมศักดิ์ นากสวาสดิ์ และนายประเทือง ศรีรอดบาง ไม่มีอำนาจเข้าประชุมแทนนั้น เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้มอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทน คดีนี้นายจำนงค์รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม นายเฉลิมศักดิ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และนายประเทืองรองอธิบดีกรมการค้าภายในแทนอธิบดีกรมการค้าภายในทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้บังคับบัญชาในกระทรวงที่ตนสังกัดตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดินเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการแทนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 21 คน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าวมีกรรมการผู้เข้าประชุมทั้งสิ้นจำนวน 13 คน ซึ่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด การประชุมของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ครั้งที่ 1/2532 จึงเป็นการประชุมที่ครบองค์ประชุม ตามมาตรา 15 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าคณะกรรมการบริหารมีมติให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับเป็นเงิน 32,786,000 บาท โจทก์อุทธรณ์แต่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมาฟ้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 58 ขอให้ศาลเพิกถอนมติและคำวินิจฉัยดังกล่าวที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับผลของคำพิพากษาก็คือเมื่อโจทก์ชนะคดีทำให้โจทก์ไม่ต้องชำระเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าว กรณีจึงเป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์
พิพากษายืน