แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2418 มาตรา 16วรรคหนึ่ง ได้ บัญญัติห้ามผลิต ขาย นำเข้าหรือส่งออกซึ่ง วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4… เว้นแต่ได้ รับใบอนุญาต และมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 90 ซึ่ง มาตรา 4 แห่งพ.ร.บ. ฉบับ นี้ได้ วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ขาย” ว่าหมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย ฉะนั้นการขายหรือมีไว้เพื่อขายตาม นัยแห่ง พ.ร.บ. ฉบับ นี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเพโมลิน อัน เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อ จิตและประสาทไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวน 201 เม็ดและจำเลยที่ 1 ได้ ขายเพโมลิน ดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อไป 2 เม็ดยังเหลืออยู่ที่จำเลยที่ 1 จำนวน 199 เม็ด เพโมลิน ทั้ง 201 เม็ดเป็นจำนวนเดียว กันกับที่จำเลยที่ 1 ได้ มี ไว้เพื่อขายและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ฐาน ขายเพโมลินจึงต้อง ถือ ว่าจำเลยที่ 1 ถูก ลงโทษตาม ที่โจทก์ฟ้องแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 หาเป็นความผิดสองกรรมไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 16, 90, 116 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโดยให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง,90, 116 รวม 2 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษ จำคุกกระทงละ 3 ปีรวมจำคุก 6 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 รวม 3 ปี ของกลางริบ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานขายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดเพโมลิน ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง,90 กระทงเดียว จำคุก 2 ปี ปรับ 5,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก1 ปี ปรับ 2,500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิด 2 กรรมคือฐานมีเพโมลินไว้เพื่อขายกรรมหนึ่งกับฐานขายเพโมลินอีกกรรมหนึ่ง เพราะการที่จำเลยที่ 1 มีไว้เพื่อขายเพโมลินจำนวน 201 เม็ด เป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งแล้ว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ขายเพโมลินดังกล่าวต่อไป 2 เม็ดซึ่งเป็นการกระทำผิดอีกกรรมหนึ่งนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติห้ามผลิต ขายนำเข้าหรือส่งออกซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 หรือประเภท 4…เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 90 ซึ่งมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ขาย” ว่าหมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขายฉะนั้น การขายหรือมีไว้เพื่อขายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีเพโมลินอันเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวน 201 เม็ด และจำเลยที่ 1 ได้ขายเพโมลินดังกล่าวให้แก่ผู้ล่อซื้อไป 2 เม็ด ยังเหลืออยู่ที่จำเลยที่ 1 จำนวน 199 เม็ดเพโมลินทั้ง 201 เม็ด เป็นจำนวนเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 ได้มีไว้เพื่อขายและขายไปในเวลาต่อเนื่องกัน เมื่อศาลลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานขายเพโมลินจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถูกลงโทษตามที่โจทก์ฟ้องแล้วการกระทำของจำเลยที่ 1 หาเป็นความผิดสองกรรมตามที่โจทก์ฎีกาไม่
สำหรับที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้นเห็นว่าความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำไม่ร้ายแรงนัก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียนและไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย…”
พิพากษายืน.