คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกัน โดยปล้นทรัพย์จากท้องที่หนึ่งนำไปจำหน่ายแก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่งดังนั้นพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 จำเลยที่ 4 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นเอามาซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีอัตราสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 4ในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,288, 289, 340 ตรี, 357, 371, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ที่ 4 ให้การปฏิเสธส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289,340, 340 ตรี, 371 ประกอบมาตรา 90, 91 และจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ด้วย จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียน จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 6 เดือนฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้นายโตถึงแก่ความตายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานฆ่านายโตเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนักให้ประหารชีวิต ฐานฆ่านางสุนัยเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิตฐานฆ่านางแสงเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 และจำคุก 2 ปี เมื่อพิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วจึงไม่สามารถจำคุกได้อีก คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 เพียงสถานเดียวให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานฆ่านายโตเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิตฐานฆ่านางสุนัยเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิต ฐานฆ่านางแสงเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ฐานมีอาวุธปืนคงจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนคงจำคุก 3 เดือนฐานฆ่านายโตคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางสุนัยคงจำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่านางแสงคงจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52รวมแล้วให้ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 9 เดือนแต่ให้จำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 เท่ากับจำเลยที่ 2 และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3ฐานปลอมเอกสารอีก 1 ปีด้วย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 3 ฐานมีอาวุธปืน 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน3 เดือน ฐานฆ่านายโตจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางสุนัยจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางแสงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 52 ฐานปลอมเอกสารจำคุก 6 เดือน รวมแล้วให้ลงโทษจำเลยที่ 3จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก 1 ปี 3 เดือน แต่ให้จำคุกจำเลยที่ 3ไว้ตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาของศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำเลยที่ 4จำคุก 2 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 4 อุทธรณ์ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ศาลศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ที่ 3 และพวกที่หลบหนีอีก 2 คน กระทำผิดจริงตามฟ้อง แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ในชั้นนี้จึงมีปัญหาตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าคดีนี้เหตุรับของโจรและท้องที่ที่จำเลยถูกจับอยู่ในจังหวัดชัยภูมิแต่พนักงานสอบสวนอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการสอบสวนรับผิดชอบหาได้ทำการสอบสวนไม่ จึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 โดยยังไม่มีการสอบสวน จึงไม่มีอำนาจฟ้องกับเหตุมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ฉะนั้นศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เห็นว่าแม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกัน โดยปล้นทรัพย์จากท้องที่หนึ่งนำไปจำหน่ายแก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 ดังนั้นพนักงานสอบสวนคดีนี้ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 โดยมีการสอบสวนแล้วโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนในข้อที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้น เห็นว่าคดีนี้มีผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทำความผิดหลายฐานโดยจำเลยที่ 4 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นเอามาซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 4ในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 24 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลงโทษจำเลยที่ 1ที่ 4 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 โดยมิได้ระบุวรรคและอ้างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 นั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share