คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ของโจทก์มีว่า “…มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง” ดังนี้เป็นการแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ การขอรับเช็คคืนไปเพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายมิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) แล้ว เมื่อโจทก์ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 5 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เป็นเช็ค 2 ฉบับสั่งจ่ายเงินฉบับละ 50,000 บาท ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นจึงจำหน่ายคดี คงดำเนินคดีจำเลยที่ 3 ต่อไปแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตามเช็ค ฉบับละ5 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2524 โจทก์อ้างว่าไปร้องทุกข์แล้วภายในอายุความตามเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยที่ 3 เห็นว่า ไม่เป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน2525 จึงขาดอายุความนั้น ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.5 มีว่า “…มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายตามกฎหมายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่ง” ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ข้อความในบันทึกการร้องทุกข์ เอกสารหมาย จ.5 ในตอนต้นระบุว่ามาร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้สั่งจ่ายจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แสดงว่าโจทก์ได้แจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ แม้จะมีข้อความในตอนหลังว่าในชั้นนี้ขอรับเช็คคืนไปเก็บรักษาไว้เพื่อจะได้ติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่งก็ตาม ก็มิใช่เป็นข้อความที่แสดงว่ายังไม่มอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการดังจำเลยฎีกา การขอรับเช็คกลับคืนไปก็เพื่อติดต่อกับผู้สั่งจ่ายอีกทางหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีผลกระทบต่อการแจ้งความร้องทุกข์แต่อย่างใดดังนั้นข้อความในเอกสารหมาย จ.5 จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) แล้ว เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินวันที่ 5 ตุลาคม 2524 ผู้รับมอบอำนาจให้แจ้งความก็มาแจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ภายในกำหนด 5 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share