คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เต็มจำนวนที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดแล้ว ดังนั้น หนี้ที่ผู้ค้ำประกันยื่นคำขอรับชำระหนี้จึงมิใช่จำนวนหนี้ที่แท้จริงที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้ายและวรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2544
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจำนวน 259,877,980.88 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยจากลูกหนี้ได้ในอนาคตตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 เนื่องจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ผู้สวมสิทธิรับชำระหนี้แทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ 11998/2541 ได้นำมูลหนี้ในคดีดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 16 และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ธ.5234/2542 ได้นำมูลหนี้ในคดีดังกล่าวไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 15 โดยเจ้าหนี้ทั้งสองรายได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว เห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้อุทธรณ์เอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 ลูกหนี้ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ว่าลูกหนี้เป็นหนี้ธนาคารดังกล่าวเป็นเงิน 109,189,161.63 บาท และเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ไว้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ลูกหนี้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้รายที่ 15 คิดถึงวันที่ 16 มีนาคม 2542 มีหนี้ค้างชำระ 49,066,734.96 บาท ซึ่งเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของลูกหนี้ไว้แก่เจ้าหนี้รายที่ 15 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้รายที่ 15 ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 57,888,080.62 บาท และบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เจ้าหนี้รายที่ 16 ผู้สวมสิทธิรับชำระหนี้แทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 207,076,291.55 บาท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่า กรณีของเจ้าหนี้เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ขอใช้สิทธิที่ตนจะต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้รายที่ 15 และที่ 16 ในฐานะผู้ค้ำประกันอันเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 แม้จะมีข้อเท็จจริงตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้ถูกฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชำระหนี้แล้ว ผลของคดีแพ่งก็ไม่กระทบถึงสิทธิของบรรดาเจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใดในเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เพราะในที่สุดกฎหมายบังคับให้เจ้าหนี้รายใดของลูกหนี้ที่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 15 และที่ 16 ได้ใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เต็มจำนวนที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดแล้ว ดังนั้น หนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มาจึงมิใช่จำนวนหนี้ที่แท้จริงที่เจ้าหนี้จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 101 วรรคหนึ่งตอนท้ายและวรรคสอง คำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้ฎีกาเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้”

Share