คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5233/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ที่ได้สุรา4 ขวด มาจากคู่ค้าของจำเลย เพราะโจทก์เรียกรับเอาเองในขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของจำเลย อันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจ จำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง จึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อเดือนตุลาคม 2544 ครั้งสุดท้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,600 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 25,740 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า15,730 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 8,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของแต่ละต้นเงินนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การด้วยวาจาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์เรียกรับสุรารวม 4 ขวดจากคู่ค้าของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีที่ร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 25,740 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544 มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,600 บาท โจทก์ได้เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้าของจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2545 ซึ่งจำเลยอ้างเหตุในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างและวินิจฉัยว่า การที่โจทก์รับสุราจากคู่ค้าของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 3.34 ซึ่งตำแหน่งของโจทก์อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้าที่จำหน่ายสินค้าให้จำเลย ถือเป็นเรื่องสำคัญ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีเหตุสมควรและถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่การกระทำดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ฉ้อโกงหรือประพฤติชั่วในกิจการงานของจำเลย กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญา โดยเจตนาแก่จำเลยตามที่จำเลยอ้างในหนังสือเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 25,740 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามกฎหมาย และคดีนี้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเนื่องจากยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอจะวินิจฉัยคดี ศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความรับกันเพิ่มเติมตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง (ธัญบุรี) ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547 ไว้เป็นใจความว่า คู่ค้าของจำเลยได้รับโทรศัพท์จากโจทก์ขอสุราจากร้านโดยอ้างว่าบริษัทจำเลยจะไปเที่ยวในวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2545 คู่ค้าของจำเลยหลงเชื่อตามโจทก์อ้างจึงให้สุราแก่โจทก์ไปรวม 4 ขวด การเรียกรับสุรานั้นจำเลยไม่ได้สั่งการ โจทก์ได้ใช้สุราทั้ง 4 ขวด ในการไปเที่ยวกับเพื่อนร่วมงานประมาณ 30 คน โดยไปเที่ยวกันเอง โจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบมาก่อน ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นใจความว่า การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ของโจทก์ในการจัดซื้อ จัดหา ตลอดจนคัดเลือกกลุ่มสั่งซื้อของเข้าบริษัทจำเลย การที่โจทก์เรียกรับสุรา 4 ขวด จากคู่ค้า เป็นการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเองโดยทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของจำเลย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.34 อันเป็นกรณีร้ายแรงแล้วนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) กำหนดให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งถูกเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ไว้ และไม่ได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรมคือความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง การกระทำของโจทก์ที่ได้สุรา 4 ขวด มาจากคู่ค้าของจำเลย เพราะโจทก์เรียกรับเอาเองในขณะที่โจทก์มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อของจำเลย อันเป็นตำแหน่งที่อาจเอื้อประโยชน์หรือให้คุณให้โทษต่อคู่ค้า คู่ค้าจึงอาจเกรงใจจำยอมหรือยอมให้โดยไม่ได้สมัครใจอย่างแท้จริง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจะนำเที่ยวในวันดังกล่าว คู่ค้าหลงเชื่อจึงให้สุราไป ความจริงโจทก์กับเพื่อนร่วมงานนำสุราทั้ง 4 ขวดใช้ในการเที่ยวส่วนตัวการกระทำของโจทก์จึงเป็นความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น เมื่อได้ความว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด.

Share