คำวินิจฉัยที่ 60/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองคูสาธารณประโยชน์” ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองคูสาธารณประโยชน์” ส่วนที่ทับซ้อนที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยระเบียบและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอน น.ส.ล. ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๐/๒๕๕๙

วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ นางฉวีวรรณ พินิจมนตรี ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาน้ำพอง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๓๐/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกจากมารดา โดยมีที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ จำนวน ๓ แปลง คือ เลขที่ ๓๑๗ เลขที่ ๓๒๐ และเลขที่ ๓๒๒ หมู่ที่ ๑ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี ๒๕๒๘ ผู้ฟ้องคดีได้นำหลักฐาน ส.ค. ๑ ทั้งสามแปลงไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยมอบ ส.ค. ๑ ดังกล่าว ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดำเนินการแทน ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดีทราบว่าทางราชการได้ออก น.ส. ๓ ก. ให้แก่มารดาผู้ฟ้องคดีเพียงแปลงเดียว โดยอาศัย ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๒๐ เป็นน.ส. ๓ ก. เลขที่ ๕๘๔ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ส่วนที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ และเลขที่ ๓๒๒ ยังไม่มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปล้อมรั้วลวดหนามในที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ ไว้ ต่อมาทางราชการได้รังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลงหนองคูสาธารณประโยชน์ เป็น น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๕ ตั้งอยู่บ้านเพี้ยฟาน ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แต่ผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการรังวัด ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ได้มีชาวบ้านไปร้องเรียนที่อำเภอน้ำพองว่า ผู้ฟ้องคดีบุกรุกที่หลวงและให้รื้อถอนรั้วลวดหนามออก ผู้ฟ้องคดีจึงทราบว่า น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๕ บางส่วนออกทับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ และน.ส.ล. เลขที่ ๓๐๘๔ บางส่วนออกทับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๒๒ ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส.ล. เลขที่ ๑๗๕ และเลขที่ ๓๐๘๔ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ และเลขที่ ๓๒๒ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามแบบ ส.ธ. ๑ เลขที่ ๔๙๙๒๔ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยระเบียบกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน สำหรับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ และ ๓๒๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้รับคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีแล้ว อยู่ในระหว่างการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อพิสูจน์สิทธิในที่ดินว่ามีตำแหน่งตรงตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ อย่างไร ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมที่ดิน ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่า หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงบางส่วนออกทับที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ของผู้ฟ้องคดี คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ แม้ในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ศาลจำต้องแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ ตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นเพียงประเด็นย่อยที่ศาลจำต้องวินิจฉัยก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดี ดังนั้น จึงเห็นว่าข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อให้โจทก์ได้รับความเป็นธรรมตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินตามที่จำเลยทั้งสองโต้แย้งเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่เอกชนยื่นฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองคูสาธารณประโยชน์” เลขที่ ๑๗๕ และเลขที่ ๓๐๘๔ ตั้งอยู่ที่บ้านเพี้ยฟาน ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๑๗ และเลขที่ ๓๒๒ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลง “หนองคูสาธารณประโยชน์” เลขที่ ๑๗๕ และเลขที่ ๓๐๘๔ ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การสอดคล้องกันว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยระเบียบและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีบางส่วนอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาท แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกถอน น.ส.ล.ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ ทั้งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีอ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ ๑๗๕ และเลขที่ ๓๐๘๔ ประการอื่น นอกจากการทับซ้อนกับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครอง กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางฉวีวรรณ พินิจมนตรี ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดิน ที่ ๑ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขาน้ำพอง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share