คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12931/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศหรือ International Finance Corporation หรือ IFC เป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized Agencies) แห่งสหประชาชาติ และ พ.ร.ฎ.ระบุทบวงการชำนัญพิเศษ พ.ศ.2504 มาตรา 3 (4) ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ.2504 มาตรา 5 (1) ได้บัญญัติว่า “…ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เป็นนิติบุคคลและให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย…” ดังนั้น เจ้าหนี้จึงเป็นนิติบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่ใช่เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าหนี้จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 กำหนด
ในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 นั้น นอกจากเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาแสดงให้เห็นว่าหนี้ที่ขอรับชำระเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงแล้ว จะต้องแสดงว่าลูกหนี้ต้องรับผิดใช้หนี้ดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาการลงทุน (Investment Agreement) และสัญญาจัดการค่าธรรมเนียม (Fee Arrangement Agreement) เงินกู้ส่วน ก เงินต้น 17,371,571.86 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 10,025,656.41 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยเพิ่มเติมของต้นเงินที่ถึงกำหนดชำระ 2,738,339.66 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยเพิ่มเติมของดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระ 2,781,992.27 ดอลลาร์สหรัฐ เงินกู้ส่วน ข เงินต้น 74,191,419.77 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ย 2,975,630.50 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยเพิ่มเติมของต้นเงินที่ถึงกำหนดชำระ 66,886,226.39 ดอลลาร์สหรัฐ ดอกเบี้ยเพิ่มเติมของดอกเบี้ยที่ค้างชำระ 18,218,080.14 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ (Facility Fee) 344,100.77 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมสินเชื่อเพิ่มเติม 403,879.64 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อ 77,422.67 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อเพิ่มเติม 90,972.92 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมตัวแทนรายปี (Annual Agency Fee) 26,714.18 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าธรรมเนียมตัวแทนรายปีเพิ่มเติม 19,634.72 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าทนายความ ค่าที่ปรึกษาและค่าใช้จ่ายซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายของคณะทำงานตามสัดส่วน 484,564.85 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าทนายความและค่าที่ปรึกษา 433,749.71 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 126,577.87 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเงินที่ขอรับชำระหนี้ 197,196,435.35 ดอลลาร์สหรัฐ (คิดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย ณ วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 46.628 บาท เท่ากับ 8,603,286,081.57 บาท)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้วปรากฏว่าคงมีเฉพาะผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้โดยโต้แย้งเฉพาะส่วนของดอกเบี้ยว่า ลูกหนี้ในคดีนี้ได้เข้าสู่ระบบขององค์การเพื่อการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) มาก่อน โดยในชั้นดังกล่าวคณะกรรมการได้อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในดอกเบี้ยถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ดังนั้นเมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เฉพาะยอดหนี้ที่ค้างอยู่ในชั้นปรส.เท่านั้น เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ถึงวันที่ 1 เมษายน 2545
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่า ลูกหนี้ได้ทำสัญญาการลงทุนและสัญญาจัดการค่าธรรมเนียมกับเจ้าหนี้ เมื่อบริษัทลูกหนี้ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและมีการชำระบัญชีภายใต้การควบคุมของปรส. เจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้ดังกล่าวยื่นคำขอรับชำระหนี้และได้รับชำระหนี้บางส่วนเป็นเงิน 2,979,039,784.29 บาท เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 8,603,286,081.57 บาท โดยเจ้าหนี้เป็นองค์การระหว่างประเทศ มีภูมิลำเนา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนานอกราชอาณาจักร เมื่อเจ้าหนี้มิได้พิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาและมิได้แถลงว่า เจ้าหนี้ได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้คนเดียวกันนั้นนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่าใดหรือไม่ และถ้ามีเจ้าหนี้ยอมส่งทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งของทรัพย์สินแล้วมารวมไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในราชอาณาจักร เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้น ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (1)
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อแรกว่า เจ้าหนี้มีภูมิลำเนาในประเทศไทย จึงไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ต้องพิสูจน์ว่า เจ้าหนี้ในประเทศไทยก็มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามกฎหมายและในศาลแห่งประเทศของตนได้ในทำนองเดียวกัน (2) ต้องแถลงว่า ตนได้รับหรือมีสิทธิจะได้รับทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้คนเดียวกันนั้นนอกราชอาณาจักรเป็นจำนวนเท่าใดหรือไม่ และถ้ามีตนยอมส่งทรัพย์สินหรือส่วนแบ่งจากทรัพย์สินของลูกหนี้แล้วมารวมในกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในราชอาณาจักร” หรือไม่ โดยเจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าหนี้เป็นนิติบุคคลมีภูมิลำเนาในประเทศไทยนั้น เห็นว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศหรือบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Finance Corporation หรือ IFC เป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized Agencies) แห่งสหประชาชาติ และพระราชกฤษฎีการะบุทบวงการชำนัญพิเศษ พ.ศ.2504 มาตรา 3 (4) ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองการดำเนินงานของสหประชาชาติและทบวงการชำนัญพิเศษในประเทศไทย พ.ศ.2504 มาตรา 5 (1) ได้บัญญัติว่า “…ทบวงการชำนัญพิเศษนั้น ๆ เป็นนิติบุคคลและให้ถือว่ามีภูมิลำเนาในประเทศไทย…” ดังนั้น เจ้าหนี้จึงเป็นนิติบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ไม่ใช่เจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าหนี้จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตามที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 178 กำหนด ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้โดยเห็นว่าเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรและไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของมาตราดังกล่าว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด แม้ว่าปัญหาดังกล่าวนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยังมิได้ทำความเห็นเสนอศาล แต่เมื่อคดีนี้ได้ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้จนกระทั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งให้งดสอบสวนแล้ว เพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายดำเนินการไปโดยรวดเร็วและเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยไม่ชักช้า ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่า คดีสามารถวินิจฉัยได้ จึงเห็นควรมีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งก่อน เมื่อพิเคราะห์สำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว ปรากฏว่า ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้นั้น เจ้าหนี้ได้ยื่นแบบคำขอรับชำระหนี้ซึ่งแสดงรายละเอียดต่างๆ ในมูลหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้พร้อมทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งแสดงฐานะของเจ้าหนี้ จำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้ คำชี้แจงอธิบายถึงมูลหนี้ต่าง ๆ พร้อมทั้งดัชนีในการค้นหาเอกสารต่าง ๆ ได้ความว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ เจ้าหนี้เป็นองค์การระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นมาให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้เงินทุนมีการไหลเวียนระหว่างประเทศ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในด้านการให้กู้ในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเจริญเติบโตในทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา มูลหนี้ตามสัญญาการลงทุนตามสัญญาฉบับลงวันที่ 16 มีนาคม 2538 ในส่วนเกี่ยวกับเงินกู้ส่วน ก เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเป็นต้นเงิน 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลูกหนี้ได้มีหนังสือขอเบิกจ่ายเงินกู้ส่วน ก และลูกหนี้ได้รับเงินตามที่ขอเบิกแล้ว ในการกู้ยืมเงินดังกล่าว เดิมกำหนดวันครบกำหนดชำระในวันที่ 15 มกราคม 2544 แต่มีข้อกำหนดว่าหากในวันที่ 15 กันยายน 2540 เจ้าหนี้เรียกเงินกู้ส่วน ก ทั้งหมด ก็ให้หนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระและเจ้าหนี้ได้เรียกหนี้ทั้งหมดให้ถึงกำหนดชำระแล้ว ในการกู้ยืมลูกหนี้ตกลงชำระดอกเบี้ยเงินกู้ส่วน ก เท่ากับอัตราร้อยละ 1.125 ต่อปี บวกอัตรา LIBOR (อัตราที่เสนอหน้าจอรอยเตอร์ในหน้า LIBOR ณ เวลา 11.00 นาฬิกา ตามเวลาลอนดอน) จำนวนหนี้ที่ค้างชำระเป็นไปตามเอกสาร ต่อมาเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินกู้ส่วน ก บางส่วนเป็นเงินสด 12,333,916.23 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหุ้นกู้ของบริษัทจัดการทรัพย์สินมูลค่าเท่ากับ 294,511.91 ดอลลาร์สหรัฐ
เงินกู้ส่วน ข เป็นต้นเงินรวม 150,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ เงินกู้ส่วน ข นั้น ประกอบด้วยเงินกู้ส่วน ข กลุ่มต่าง ๆ ที่เจ้าหนี้เบิกจ่ายให้แก่ลูกหนี้ (เงินกู้จากตราสารการค้า) เงินกู้ส่วน ข ที่เบิกจ่ายแต่ละงวดจะได้มาจากการออกตราสาร การค้า ซื้อลด โดยบริษัทไฟแนนซ์ วัน ฟันดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (FOFC) การกู้เงินดังกล่าว ลูกหนี้ได้มีคำขอเบิกจ่ายเงินกู้ส่วน ข ตรงกับเงินกู้ตราสารการค้าตามตารางเงินกู้ส่วน ข ตาราง 1 และลูกหนี้ได้รับเงินตามใบรับเงินส่วน ข แล้ว บางรายการนั้นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ครบแล้วทั้งหมด ซึ่งรายการเหล่านั้นเจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มาในคดีนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วน ข สำหรับเงินกู้ตราสารการค้าแต่ละกลุ่ม บริษัทแบงเกอร์ส ทรัสต์ ในฐานะตัวแทนเงินกู้ส่วน ข จะเป็นผู้กำหนดตามสัญญาข้อ 3.05 ของสัญญาการลงทุนและสัญญาการบริหารจัดการ ต่อมาเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินกู้ส่วน ข บางส่วน เป็นเงินสด 53,817,073.58 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหุ้นกู้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับ 1,285,055.70 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าธรรมเนียมตัวแทนรายปี ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตัวแทนรายปี 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แก่เจ้าหนี้เพื่อบัญชีของไฟแนนซ์ วัน ฟันดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้เข้าร่วมตามสัญญาการลงทุนข้อ 3.10 (ข) (vii) และค่าธรรมเนียมตัวแทนรายปีจำนวน 40,753.42 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมถึงวันที่ 15 มีนาคม 2541 เป็นเงิน 15,753.42 ดอลลาร์สหรัฐ เจ้าหนี้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมรายปีบางส่วนเป็นเงินสด 13,711.83 ดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นกู้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์ มูลค่า 327.41 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมสินเชื่อให้แก่เจ้าหนี้เพื่อบัญชีของไฟแนนซ์ วัน ฟันดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้เข้าร่วมตามสัญญาการลงทุน ข้อ 3.10 (ข) อัตราค่าธรรมเนียมเท่ากับร้อยละ 1.0 ต่อปี ของจำนวนเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ไม่ได้เบิกถอนในแต่ละวันและมีค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายปีพึงชำระตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 เท่ากับ 595,152.78 ดอลลาร์สหรัฐ เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมสินเชื่อบางส่วนเป็นเงิน 245,197.14 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหุ้นกู้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับ 5,854.87 ดอลลาร์สหรัฐ
ค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อ ลูกหนี้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อแก่เจ้าหนี้เพื่อบัญชีของไฟแนนซ์ วัน ฟันดิ้ง คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้เข้าร่วมตามข้อ 3.10 (v) ของสัญญาการลงทุนและข้อ 2 ของสัญญาจัดการค่าธรรมเนียม อัตราค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อเท่ากับร้อยละ 0.225 ต่อปี ตามจำนวนเงินเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ไม่ได้เบิกถอนไปและมีค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อรายปีที่พึงชำระนับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 เท่ากับ 133,309.38 ดอลลาร์สหรัฐ เจ้าหนี้ได้รับชำระค่าธรรมเนียมผูกพันการให้สินเชื่อบางส่วนเป็นเงิน 55,169.36 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นหุ้นกู้ของบริษัทบริหารสินทรัพย์มีมูลค่าเท่ากับ 1,317.35 ดอลลาร์สหรัฐ พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้ได้แนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ประกอบด้วยคำชี้แจงมูลหนี้ประกอบการขอรับชำระหนี้ (Explanatory Notes to Creditor Claim Form) สัญญาการลงทุนและสัญญาจัดการค่าธรรมเนียม ใบรับเงินพร้อมเอกสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งได้อธิบายถึงมูลหนี้ต่าง ๆ พร้อมทั้งลำดับการดำเนินการในชั้นคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ทั้งยังปรากฏว่า หลังจากที่ลูกหนี้ถูกควบคุมโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเจ้าหนี้ก็ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการที่ปรส.กำหนดเป็นเงิน 8,603,286,081.57 บาท และคณะกรรมการมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 7,823,503,346.29 บาท และในชั้นของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้วเป็นเงิน 2,979,039,784.29 บาท นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนคำขอรับชำระหนี้ทั้งเจ้าหนี้อื่น ผู้ชำระบัญชีก็ไม่มีบุคคลใดคัดค้านคำขอรับชำระของเจ้าหนี้ส่วนนี้ ผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลที่ดูแลการชำระบัญชีกิจการของลูกหนี้ตั้งแต่ชั้นของปรส.ก็โต้แย้งเพียงว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยหลังจากวันที่พระราชกำหนดมีผลใช้บังคับ เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้เฉพาะหนี้ที่ยังค้างอยู่ในชั้นปรส.เท่านั้น พยานหลักฐานที่เจ้าหนี้อ้างส่งมาจึงเพียงพอรับฟังได้ว่า ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาการลงทุนและสัญญาจัดการค่าธรรมเนียมที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ได้นำหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินที่คงค้างชำระอยู่ภายหลัง เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไปแล้วบางส่วนคิดเป็นเงินไทย 2,979,039,784.29 บาท มายื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ก็เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการชำระสะสางหนี้สินของลูกหนี้ต่อจากในชั้นของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำนวนเงินที่เจ้าหนี้จะนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ก็คงเป็นหนี้ที่ค้างชำระอยู่ภายหลังที่หักด้วยจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว ในส่วนดอกเบี้ยนั้นเมื่อเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระหนี้ในชั้นคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้ว กรณีจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 (ฉบับที่ 2) มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติว่า “นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระหนี้ได้” เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ส่วน ก และส่วน ข โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เมื่อเจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในชั้นคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินแล้ว เจ้าหนี้รายนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยหรือค่าบริการอย่างอื่นซึ่งเกิดขึ้นหลังที่พระราชกำหนดดังกล่าวมีผลใช้บังคับถึงวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ส่วนดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ไม่ให้ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนนี้เป็นเงิน 4,844,463,562 บาท ส่วนหนี้อันดับที่ 3 ค่าทนายความ ค่าที่ปรึกษาและค่าใช้จ่ายจำนวน 1,044,892.43 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขอรับชำระหนี้แยกเป็นค่าใช้จ่ายคณะทำงานตามสัดส่วน (คิดเป็นร้อยละ 37.46 ของค่าใช้จ่ายจริง) เป็นเงิน 484,564.85 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าทนายความและค่าที่ปรึกษา 433,749.71 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าใช้จ่ายอื่น 126,577.87 ดอลลาร์สหรัฐ เห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 นั้น นอกจากเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องนำพยานมาแสดงให้เห็นว่า หนี้ที่ขอรับชำระเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงแล้วจะต้องแสดงว่าลูกหนี้ต้องรับผิดใช้หนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานของเจ้าหนี้ฟังได้แต่เพียงว่า ค่าใช้จ่ายที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ส่วนนี้นั้น เจ้าหนี้ในฐานะประธานร่วมของคณะทำงานของกรรมการเจ้าหนี้ซึ่งทำหน้าที่ติดตามหนี้สินของบรรดาเจ้าหนี้ได้จ่ายไปและเป็นค่าใช้จ่ายของคณะทำงานที่ติดตามหนี้สินซึ่งคิดตามสัดส่วนของจำนวนหนี้หลักของลูกหนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการดำเนินการของเจ้าหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยตรง ตามพยานที่ได้จากการสอบสวนในชั้นขอรับชำระหนี้ ยังไม่ปรากฏเหตุที่ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 4,844,463,562 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share