คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14779/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วัดโจทก์เป็นวัดที่สร้างในปี 2478 แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วัดโจทก์จึงมีสถานะเป็นวัดประเภท “ที่สำนักสงฆ์” ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 5 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น และได้สร้างวัดขึ้นถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 ประการ โดยนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทั้ง 5 ข้อแล้ว ให้เจ้าคณะแขวงมีอำนาจทำหนังสืออนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์ และให้นายอำเภอประทับตรากำกับในหนังสือนั้น และเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการโอนโฉนดเนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ตามกฎหมายก่อน จึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้ ดังนั้น การสร้างที่สำนักสงฆ์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมมีหลักฐานเป็นหนังสือที่สามารถตรวจสอบได้คือ จดหมายของผู้ประสงค์จะสร้างที่สำนักสงฆ์ถึงนายอำเภอ 1 ฉบับ หนังสือของเจ้าคณะแขวงอนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์ซึ่งนายอำเภอประทับตรากำกับ 1 ฉบับ และโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินจดทะเบียนโอนให้เป็นที่วัดแล้ว เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการ ควรจะมีการเก็บรักษาหรือบันทึกไว้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่มีผู้อุทิศให้สร้างวัดนั้นย่อมเป็นหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่ามีการสร้างวัดหรือที่สำนักสงฆ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่โจทก์ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับการสร้างที่สำนักสงฆ์ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจากอำเภอ เจ้าคณะแขวงหรือโฉนดที่ดินมาแสดง ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่วัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาท ในส่วนกรอบสีแดง (ที่ถูกที่ดินพิพาทคือส่วนกรอบสีเขียว) กับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนพืชที่จำเลยและบริวารปลูกในที่ดินออกให้หมด หากไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้ส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยและบริวารไม่ส่งมอบให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นเครื่องแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินมือเปล่าตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลยางราก อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี ที่พิพาทตามแผนที่พิพาท ในกรอบพื้นที่สีเขียว ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนพืชที่ปลูกในที่ดินพิพาทออกไปและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์เป็นวัดโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 2 และมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาและยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ การที่โจทก์อ้างว่า วัดโจทก์เป็นวัดที่สร้างในปี 2478 แต่ยังไม่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดโจทก์จึงมีสถานะเป็นวัดประเภท “ที่สำนักสงฆ์” ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 5 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น และได้สร้างวัดขึ้นถูกต้องตามมาตรา 9 ข้อ 1 ถึงข้อ 3 ที่บัญญัติให้บุคคลใดที่ประสงค์สร้างที่สำนักสงฆ์ขึ้นใหม่ในที่แห่งใดให้ผู้นั้นมีจดหมายแจ้งความต่อนายอำเภอผู้ปกครองท้องที่แห่งนั้น ให้นายอำเภอปรึกษาด้วยเจ้าคณะแขวงตรวจและพิเคราะห์ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 ประการก่อนว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้านายอำเภอและเจ้าคณะแขวงเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ครบทั้ง 5 ข้อแล้ว ให้เจ้าคณะแขวงมีอำนาจทำหนังสืออนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์ และให้นายอำเภอประทับตรากำกับในหนังสือนั้น และเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการโอนโฉนดเนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ตามกฎหมายก่อน จึงจะสร้างที่สำนักสงฆ์ได้ ดังนั้น การสร้างที่สำนักสงฆ์ตามกฎหมายดังกล่าวย่อมมีหลักฐานเป็นหนังสือที่สามารถตรวจสอบได้คือ จดหมายของผู้ประสงค์จะสร้างที่สำนักสงฆ์ถึงนายอำเภอ 1 ฉบับ หนังสือของเจ้าคณะแขวงอนุญาตให้สร้างที่สำนักสงฆ์ซึ่งนายอำเภอประทับตรากำกับ 1 ฉบับ และโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าของที่ดินจดทะเบียนโอนให้เป็นที่วัดแล้ว เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการ ควรจะมีการเก็บรักษาหรือบันทึกไว้เป็นหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโฉนดที่ดินที่มีผู้อุทิศให้สร้างวัดนั้นย่อมเป็นหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่ามีการสร้างวัดหรือที่สำนักสงฆ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องจัดการโอนโฉนดเนื้อที่วัดถวายแก่สงฆ์ตามกฎหมายก่อน ไม่ใช่ที่ดินซึ่งมีเอกสิทธิในที่ดินประเภทอื่น นอกจากนั้นหากวัดโจทก์เป็นวัดร้างตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 มาตรา 8 บัญญัติให้เจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรเป็นผู้ปกครองรักษาวัดนั้น ทั้งที่ธรณีสงฆ์ซึ่งขึ้นวัดนั้นด้วย ซึ่งตามมาตรา 40 เป็นหน้าที่ของเจ้ากระทรวงธรรมการ และ เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามกฎหมายที่บัญญัติขึ้นภายหลัง และต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องวัดร้างไว้เป็นการเฉพาะคือมาตรา 32 ทวิ โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 อันเป็นการแสดงว่า หากวัดโจทก์สร้างขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้ภายหลังจะตกเป็นวัดร้าง ทางราชการก็จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบตลอดเวลา แต่โจทก์ไม่มีหนังสือเกี่ยวกับการสร้างที่สำนักสงฆ์ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจากอำเภอ เจ้าคณะแขวงหรือโฉนดที่ดินมาแสดง เมื่อหน่วยราชการต่างๆ กล่าวถึงสถานที่ซึ่งพระภิกษุพำนักอยู่ในสถานที่เดียวกับที่โจทก์อ้างว่าเป็นที่ตั้งวัดโจทก์ก็ไม่มีหน่วยงานใดระบุชื่อว่า เป็นวัดพืชมงคลวรญาณ ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซึ่งมีพระครูพิพิธอุดมคุณ เจ้าคณะตำบลยางราก ที่แสดงว่าเป็นเรื่องที่ออกจากสำนักงานศึกษาธิการอำเภอ หน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ก็ไม่ได้แสดงว่ามีวัดโจทก์อยู่ในความดูแลรับผิดชอบแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีพระครูสุวัฒน์จันทโชติรับรองว่าโจทก์เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายสร้างขึ้นเมื่อปี 2478 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของพระครูสุวัฒน์จันทโชติตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เป็นการออกคำรับรองโดยอาศัยคำรับรองของเจ้าคณะอำเภอโคกเจริญ ตลอดจนข้อมูลจากรักษาการเจ้าคณะจังหวัดลพบุรีรูปก่อน การที่พระครูสุวัฒน์จันทโชติรับรองด้วยข้อความดังกล่าวก็คงจะใช้ข้อมูลตามที่ปรากฏในทะเบียนรายชื่อวัดในเขตอำเภอโคกเจริญ ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารที่แสดงว่าพระครูพิพิธอุดมคุณ เจ้าคณะอำเภอโคกเจริญได้พิมพ์ลายนิ้วมือขวารับรองไว้ ก็ปรากฏว่าคำรับรองขัดกับข้อความที่พระครูพิพิธอุดมคุณในขณะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลยางรากได้แสดงฐานะของโจทก์ไว้ใน รวมทั้งได้ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวแทนที่จะพิมพ์ลายนิ้วมือขวา มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการเป็นวัดโดยชอบด้วยกฎหมายจึงมีเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของพระบุญและพระครูสุวัฒน์จันทโชติ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของจำเลย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมาฟังได้ว่า วัดโจทก์คือที่พักสงฆ์แห่งที่สอง พระเจริญเป็นผู้ก่อตั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติเมื่อประมาณปี 2517 และพระจำรูญส่งพระภิกษุวัดถ้ำกระบอกมาช่วยสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในที่ดินจนมีสภาพเป็นวัดโจทก์ โดยไม่ได้ความว่ามีการสร้างและตั้งวัดตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่วัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share