คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น” แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยแสดงเจตนายื่นคำขอจดทะเบียนแบ่งแยกและเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ดิน 14280 เลขที่ดิน 16 ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ (วารินชำราบ) จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา จากจำเลยเป็นชื่อโจทก์โดยค่าใช้จ่ายของจำเลย หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้เพราะสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องหรือพ้นวิสัย ให้จำเลยรับผิดชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 14280 ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา ให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่จดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย หรือถ้าไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ก็ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19588 ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 6 ตารางวา ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14280 ตำบลสว่าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ (วารินชำราบ) จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 25 ไร่ 49 ตารางวา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 จำเลยและนายอุทิตย์ บุกรุกที่ดินของโจทก์ โจทก์นำเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ รังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินนั้นปรากฏว่าเป็นที่ดินของโจทก์ เนื่องจากจำเลยขายที่ดินของโจทก์ให้แก่นายอุทิตย์แล้ว จำเลยจึงเสนอขอแลกเปลี่ยนที่ดินของจำเลยกับที่ดินของโจทก์โดยจำเลยจะดำเนินการแบ่งแยกที่ดินของจำเลยจำนวนเนื้อที่เท่ากับที่ดินของโจทก์ให้แก่โจทก์ ครั้นโจทก์กับจำเลยทำสัญญาแบ่งแยกโฉนดที่ดินมีสาระสำคัญว่า “โจทก์ได้ทำการตกลงกับจำเลยที่จะแลกโฉนดกันโดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์จำนวน 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย” ตามหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน ต่อมาในวันเดียวกันโจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19588 ให้แก่นายอุทิตย์ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 14280 ให้แก่โจทก์
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินหรือสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 บัญญัติว่า “บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบและเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น” แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่า เป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาดังกล่าวโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์จำนวน 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่ทำการแบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share