คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนกฎหมายได้คำนึงถึงลักษณะและประเภทกิจการของนายจ้างว่าลูกจ้างมีการเสี่ยงภัยที่จะได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างมากน้อยเพียงใด จึงได้กำหนดรหัสประเภทของกิจการนั้นไว้ว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละเท่าใดของค่าจ้างไว้ อันเป็นการกำหนดอัตราเงินสมทบกลางไว้เป็นหลักตามสมควรแก่กิจการนั้น ๆไว้เป็นการทั่วไปเสียก่อน ถ้าอัตราการสูญเสียลดลงกฎหมายจะลดอัตราเงินสมทบให้ และอัตราเงินสมทบจะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราส่วนการสูญเสียสูงขึ้น ดังนั้นการลดหรือเพิ่มจึงต้องคำนวณโดยถืออัตราเงินสมทบกลางหรืออัตราเงินสมทบหลักตามที่ตารางที่ 1กำหนดไว้เป็นฐานคำนวณ มิใช่ถือเอาอัตราลด/เพิ่ม ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นฐานคำนวณ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบกิจการก่อสร้างตามหมวด ๑๓๐๐ รหัส ๑๓๐๑ต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนร้อยละ ๓ ซึ่งโจทก์ได้จ่ายให้แก่สำนักงานแรงงานจังหวัดนนทบุรีตลอดมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดนนทบุรีได้ลดอัตราเงินสมทบให้โจทก์จ่ายร้อยละ๑.๕ ของค่าจ้าง ต่อมาเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๒๖ กองทุนเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งแจ้งให้โจทก์จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖ ของค่าจ้างซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการเพิ่มหรือลดเงินสมทบจะต้องนำอัตราเงินสมทบเดิมที่เคยเสียมาเป็นฐานคำนวณซึ่งโจทก์ต้องจ่ายเงินสมทบเพียงอัตราร้อยละ ๓ เท่านั้น โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าคำสั่งของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานแรงงานจังหวัดนนทบุรีชอบแล้ว ขอให้พิพากษาให้โจทก์จ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละ ๓ และบังคับให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระเกินไปแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เนื่องจากอัตราส่วนการสูญเสียของโจทก์สูงขึ้นโจทก์จึงต้องเพิ่มอัตราเงินสมทบอีกร้อยละ ๑๐๐ โดยคำนวณจากอัตราเงินสมทบหลักคืออัตราร้อยละ ๓ ตามตารางที่ ๑ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์มิใช่เพิ่มจากร้อยละ ๑.๕ ดังที่โจทก์ฟ้อง คำสั่งของกองทุนเงินทดแทนสำนักงานแรงงานจังหวัดนนทบุรีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการเพิ่มอัตราเงินสมทบร้อยละ ๑๐๐ ของอัตราเงินสมทบตามที่ตารางที่ ๒ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทน และการอุทธรณ์ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ กำหนดไว้จะเพิ่มจากอัตราเงินสมทบตามตารางที่ ๑หรือเพิ่มจากเงินสมทบอัตราร้อยละ ๑.๕ ที่โจทก์จ่ายจริงนั้น พิเคราะห์ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๑๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศดังกล่าว ฉบับที่ ๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ข้อ ๒, ๓ ตารางที่ ๑ และตารางที่ ๒ ท้ายประกาศดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าการที่นายจ้างต้องจ่ายสมทบนั้นกฎหมายได้คำนึงลักษณะและประเภทกิจการของนายจ้างว่าลูกจ้างมีการเสี่ยงภัยที่จะได้รับอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างมากน้อยเพียงใดจึงได้กำหนดรหัสประเภทของกิจการนั้น ๆ ไว้ว่าจะต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราร้อยละเท่าใดของค่าจ้างไว้ อันเป็นการกำหนดอัตราเงินสมทบกลางไว้เป็นหลักตามสมควรแก่กิจการนั้น ๆ ไว้เป็นการทั่วไปเสียก่อน แต่ถ้าอัตราการสูญเสียลดลงกฎหมายจะลดอัตราเงินสมทบให้ และอัตราเงินสมทบจะเพิ่มขึ้น เมื่ออัตราส่วนการสูญเสียสูงขึ้น ดังนั้น การลดหรือเพิ่มจึงต้องคำนวณโดยถือเอาอัตราเงินสมทบกลางหรืออัตราเงินสมทบหลักเป็นฐานคำนวณ มิใช่ถือเอาอัตราลด/เพิ่ม ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเป็นฐานคำนวณ ความทั้งสิ้นที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓ ที่ว่า “……ให้จ่ายเงินสมทบตามตารางที่ ๑ ในปีถัดไปลดหรือเพิ่มอัตราเงินสมทบตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้าง…….” ทั้งนี้โดยให้ถือ “…. ตามตารางที่ ๒ ท้ายประกาศนี้ …..” เป็นหลักเกณฑ์ประกอบการจ่าย ดังนั้นอัตราเงินสมทบที่นายจ้างจะต้องจ่ายลดหรือเพิ่มจึงต้องเป็นอัตราตามที่ตารางที่ ๑ กำหนดไว้เท่านั้น จะเป็นอัตราอื่นใดหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share