แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดอาญาแก่นายจ้างอันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(1) นั้น แม้มิใช่ตัวการแต่หากเป็นการสนับสนุนการกระทำผิด ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาตามความหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อวันที่ 7 เมษายน2525 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่การงานและประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับของการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์มิได้กระทำทุจริตดังที่จำเลยอ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2524 โจทก์ได้รับแจ้งว่ามีรถฉายภาพยนต์เกี่ยวสายโทรเลขสายท่าตูมถึงชุมพลบุรีขาด โจทก์แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2524 โจทก์พร้อมด้วยนายไพบูลย์ เกษตรสินธุ์ ช่างระดับ 1 ประจำที่ทำการโทรเลขท่าตูมไปที่เกิดเหตุช่วยต่อสายโทรเลขที่ขาดเสร็จ จึงไปพบนายสำรวย ทุ่งโมง คนขับรถที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอชุมพลบุรี เพื่อตกลงค่าเสียหาย โจทก์กับนายไพบูลย์ร่วมกันเรียกร้องค่าเสียหายจากนายสำรวยเป็นเงิน 1,500 บาท แล้วแบ่งกันเอาไปเป็นประโยชน์โดยทุจริต โจทก์โทรเลขแจ้งผู้บังคับบัญชาว่าสายโทรเลขระหว่างไปรษณีย์โทรเลขชุมพลบุรีถึงไปรษณีย์โทรเลขท่าตูมประจำวันที่ 10 มกราคม2524 สะดวกดี อันเป็นการแจ้งเท็จต่อผู้บังคับบัญชา การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ร่วมกับนายไพบูลย์เรียกและรับเงินค่าเสียหายจากนายสำรวยเป็นเงิน 1,500 บาท แล้วเบียดบังไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริตผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 ว่าด้วยระเบียบวินัยฯ พ.ศ. 2520 ข้อ 55 และข้อ 62 คำสั่งของจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานนั้นเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ขณะนายไพบูลย์ช่างโทรเลขเรียกค่าเสียหายจากนายสำรวยนั้น โจทก์ไม่ได้พูดอะไร แต่โจทก์อยู่ในเหตุการณ์และรับทราบโดยตลอด แม้จะไม่มีหลักฐานว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดแต่สร้างความหวาดระแวงและความไม่เชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ มีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกระทำผิดเบียดบังเอาเงินค่าเสียหาย จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 45,660 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นนายไปรษณีย์ระดับ 5 ร่วมฟังการเจรจาที่นายไพบูลย์ช่างโทรเลขระดับ 1 เรียกร้องค่าเสียหายกรณีนายสำรวยทำสายโทรเลขขาด ได้รับเงินค่าเสียหายจากนายสำรวยแล้ว1,500 บาท เงินจำนวนนี้โจทก์ไม่ได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ โจทก์เบิกความรับอยู่แล้วว่าต่อมาอีก 1 วันนับจากวันที่สายโทรเลขขาดโจทก์ยังได้รายงานความเรียบร้อยของสายโทรเลขว่าเป็นปกติ เงินค่าเสียหาย 1,500 บาทที่ได้รับจากนายสำรวยอาจนำเข้าส่งคลังไปรษณีย์ชุมพลบุรีซึ่งโจทก์เป็นนายไปรษณีย์อยู่ก็ทำได้ แต่โจทก์ไม่ทำ แม้โจทก์จะอ้างว่าการรับเงินค่าเสียหายจากนายสำรวยมิใช่หน้าที่โดยตรงของโจทก์เมื่อโจทก์มีส่วนรู้เห็นโดยตลอดในเรื่องนี้ ก็เท่ากับเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่นายไพบูลย์ช่างโทรเลขเรียกเงิน 1,500 บาทจากนายสำรวยแล้วไม่นำส่งเงินจำนวนนี้ต่อจำเลยตามระเบียบ ทั้งโจทก์ยังรายงานปกปิดความจริงดังกล่าวด้วยเป็นการสนับสนุนการกระทำผิด แม้มิใช่ตัวการ ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดโดยเจตนาแก่นายจ้าง เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) จำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง