คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. โรงงานฯ มาตรา 36 ที่แก้ไขแล้วให้อำนาจอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม กฎหมาย ออกคำสั่งให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานในส่วนหลอมโลหะทั้งหมดเพื่อขจัดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมาจากกลิ่นเหม็นและเขม่า ควันของโรงงานซึ่งรบกวนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ การที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยยังคงดำเนินกิจการต่อไปอีกนานถึง 2 เดือนเศษ เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านใกล้เคียงแสดงว่าจำเลยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน การใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษจึงเหมาะสมแก่รูปคดี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานหลอมหล่อโลหะ ตั้งอยู่ แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงานได้มีคำสั่ง สั่งให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานในส่วนหลอมโลหะทั้งหมด เพื่อขจัดเหตุเดือดร้อนรำคาญ อันเนื่องจากกลิ่นเหม็นและเขม่าควันของโรงงานดังกล่าวรบกวนชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้เคียง จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ จำเลยได้รับทราบคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ได้ฝ่าฝืนคำสั่ง โดยไม่หยุดประกอบกิจการโรงงานหลอมโลหะ จำเลยยังคงประกอบกิจการหลอมอะลูมิเนียมภายในโรงงานของจำเลยต่อไปทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและเขม่าควันออกไปรบกวนชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้เคียงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร ครั้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2532 เวลากลางวัน จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 มาตรา 36, 48 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518มาตรา 13
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 มาตรา 36, 48 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518มาตรา 13 จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงจำคุกจำเลย 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อวันที่28 กันยายน 2532 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งให้จำเลยหยุดประกอบกิจการโรงงานในส่วนหลอมโลหะทั้งหมด เพื่อขจัดเหตุเดือดร้อนรำคาญอันเนื่องมาจากกลิ่นเหม็นและเขม่าควันของโรงงานซึ่งรบกวนชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง จำเลยรับทราบคำสั่งแล้วฝ่าฝืนคำสั่งไม่หยุดประกอบกิจการหลอมอะลูมิเนียมในโรงงานจนถึงวันที่ 7 ธันวาคม2532 ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและเขม่าควันรบกวนชาวบ้าน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 36 ที่แก้ไขแล้วให้อำนาจอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายออกคำสั่งดังกล่าวได้ และพระราชบัญญัติโรงงานเป็นกฎหมายควบคุมการตั้งและดำเนินงานโรงงานให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเสื่อมเสียสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของประชาชนส่วนรวมเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ทันกับความเจริญด้านอุตสาหกรรม การที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยยังคงดำเนินกิจการโรงแรมหลอมโลหะต่อไปอีกนานถึง 2 เดือนเศษ เป็นเหตุให้เกิดกลิ่นเหม็นและเขม่าควันเป็นที่เดือดร้อนรำคาญของชาวบ้านใกล้เคียง แสดงว่าจำเลยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยเหมาะสมแก่รูปคดีและเป็นคุณแก่จำเลยอยู่แล้ว จำเลยเพิ่งนำหลักฐานแสดงการแก้ไขและบรรเทาผลร้ายของคดีภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษา กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์…”
พิพากษายืน.

Share