คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332, 83, 90 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 วรรคแรก (5), 101 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีกำหนดเวลา 10 ปี ให้จำเลยทั้งห้าลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวัน 8 ฉบับ คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ แนวหน้า ข่าวสด โพสต์ทูเดย์ คมชัดลึก และผู้จัดการ เป็นเวลา 15 วัน ติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากทางไต่สวนของโจทก์ว่า โจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 เป็นพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเลขาธิการพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 เป็นเหรัญญิกพรรคจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เป็นสมาชิกพรรคจำเลยที่ 1 และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่วันที่ 2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อครบทั้ง 100 คน จับสลากได้หมายเลข 2 โดยโจทก์เป็นผู้สมัครในลำดับที่ 1 ส่วนแบบแบ่งเขตก็ส่งผู้สมัครครบทั้ง 400 คน ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง พรรคไทยรักไทยส่งนายไกรสิน ลงสมัครรับเลือกตั้ง จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2549 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการปราศรัยที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังเก่า จังหวัดตรัง โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และสมาชิกอื่นของพรรค จำเลยที่ 1 ร่วมปราศรัยในการปราศรัยมีการใช้เครื่องกระจายเสียง เนื้อหาในการปราศรัยเป็นการกล่าวหาใส่ความโจทก์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้ปราศรัยก่อน กล่าวหาโจทก์เกี่ยวกับการขายหุ้นว่าเป็นการขายชาติ จำเลยที่ 3 กล่าวหาโจทก์ผูกขาดเรื่องดาวเทียม หลีกเลี่ยงไม่เสียภาษี ปล่อยให้มีการกู้เงินโดยไม่ชอบ ให้มีการฆ่าตัดตอนประชาชนเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด การฆ่าประชาชนที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ใช้อำนาจแทรกแซงองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ละเมิดกฎหมาย ละเมิดรัฐธรรมนูญ ทุจริตคอร์รัปชั่น ขายหุ้นแล้วไม่ชำระภาษี และเรื่องโกงการเลือกตั้ง ส่วนจำเลยที่ 5 กล่าวหาโจทก์เรื่องขายหุ้น ขายชาติ และสั่งฆ่าประชาชน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์มีมูลหรือไม่ ปัญหาแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์จึงมีว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลผูกพันศาลยุติธรรมหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์ฎีกาว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นเพียงองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศาลตามความหมายในมาตรา 177 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เพราะมิได้วินิจฉัยคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็มิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐหรือบุคคลภายนอก นอกจากคู่ความเท่านั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า บัญญัติไว้ตรงกันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรอื่นของรัฐ เกี่ยวกับที่มาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2549 มาตรา 35 บัญญัติว่า บรรดาการใดที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญหรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนห้าคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูดสุดโดยวิธีลงคะแนนลับจำนวนสองคนเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ…องค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยให้เป็นไปตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาบรรดาอรรถคดีหรือการใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ให้โอนมาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีที่มาจากองค์กรตุลาการคือศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมและจากศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นศาลปกครอง ในส่วนขององค์คณะในการพิจารณาพิพากษา วิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยก็มีข้อกำหนดของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยการดังกล่าวลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีไม่ต่ำไปกว่ามาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดอันเป็นการประกันความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ดังนี้ จึงถือได้ว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีฐานะเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 จะมิได้บัญญัติถึงผลบังคับของคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไว้ แต่โดยผลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 38 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 268 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 216 วรรคห้า ก็ถือได้ว่าคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีผลผูกพันศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว
พิพากษายืน

Share