คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ร. ฟ้องคดีนี้มีหนังสือซึ่งโนตารีปับลิกแห่งเมืองที่โจทก์มีภูมิลำเนาลงนามรับรองว่า บริษัทโจทก์ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศนั้นและผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวซึ่งเป็นหัวหน้าเสมียนของบริษัทโจทก์ได้ลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัทโจทก์โดยคำสั่งของคณะกรรมการด้วยความสมัครใจและเป็นการกระทำเพื่อบริษัทโจทก์ทุกประการ ทั้งยังมีคำรับรองลายมือชื่อโนตารีปับลิกจากประธานศาล และคำรับรองลายมือชื่อของประธานศาลดังกล่าวจากสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทยในประเทศนั้นต่อท้ายอีกด้วย เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ตามหนังสือมอบอำนาจนั้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้ ร. ฟ้องคดีนี้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันว่า “Adidas” อ่านออกเสียงว่า อะดีดาส ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันว่า “Adidang” อ่านออกเสียงว่า อะดีดัง รูปลักษณ์และลีลาการเขียนของตัวอักษรและการออกสำเนียงเรียกขาน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า สินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยมาก่อน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศเยอรมนีตะวันตกและมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า เป็นผู้รักษาเครื่องหมายการค้า คำว่า “Adidas” และรูปรอยประดิษฐ์ใบไม้สามแฉกของโจกท์ รวมทั้งดำเนินคดีแทน จำเลยได้ลักลอบเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า “Adidas” ซึ่งโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของโจทก์จำพวก ๕๐ ไว้ในประเทศไทยไปดัดแปลงเป็นคำว่า “Adidang” โดยคงรูปคำขึ้นต้นและลักษณะลีลาอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าโจทก์ไว้กับเพิ่มรูปรอยคนขี่รถจักรยานแข่งขันเพื่อสะดวกแก่การยื่นขอจดทะเบียนเท่านั้น แล้วจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรูปรอยและคำดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก ๕๐ เช่นกัน โจทก์ได้คัดค้านการขอจดทะเบียนของจำเลยดังกล่าวต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายกคำคัดค้านของโจทก์และมีคำสั่งให้นำคดีไปสู่ศาล ขอให้พิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับบรรดาสินค้าของจำเลยอีกต่อไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศเยอรมนีตะวันตก และไม่เคยมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจและหนังสือรับรองจากโนตารีปับลิกไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยไม่เหมือนกันจนนับได้ว่าลวงสาธารณชนแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยอีกต่อไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงไม่พอฟังว่านายโรจน์วิทย์ เปเรร่า มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนายธเนศ เปเรร่า เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศเยอรมนีตะวันตกโจทก์มอบอำนาจให้ตนและนายโรจน์วิทย์ เปเรร่า เป็นผู้ทำการแทนตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลหมาย จ.๑๓ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเอกสารดังกล่าวระบุว่าบริษัทโจทก์มอบอำนาจและแต่งตั้งให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า และหรือนายธเนศ เปเรร่าเป็นตัวแทนและผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ เพื่อจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าใด ๆ เพื่อป้องกันเครื่องหมายการค้าใด ๆ ของโจทก์ให้พ้นจากการละเมิด รวมทั้งยื่นฟ้องและดำเนินการไปจนถึงที่สุดในศาลไทยเพื่อการนั้น โจทก์ลงนามและประทับตราเป็นสำคัญ ฯลฯ ผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจนี้คือนายอัลเฟรด เบนเต้ และนางมาเรียนน์ ฮอฟพ์มันน์ นอกจากนี้มีหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกแห่งเมืองเฮอร์โซจีเนาแร๊ซแห่งประเทศเยอรมนีตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของบริษัทโจทก์ว่าผู้รับรองรู้จักนายอัลเฟรดและนางมาเรียนน์ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นอย่างดี บุคคลทั้งสองเป็นหัวหน้าเสมียนของบริษัทโจทก์ ซึ่งผู้รับรองรู้จักเช่นเดียวกันว่าเป็นบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเยอรมนีตะวันตก อนึ่งผู้รับรองทราบดีว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวข้างต้นได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัโจทก์ โดยคำสั่งของคณะกรรมการและนายอัลเฟรดกับนางมาเรียนน์รับรองว่าได้ลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจ และเป็นการกระทำเพื่อบริษัทโจทก์ทุกประการ ตอนท้ายมีลายมือชื่อของโนตารีปับลิก ถัดจากนั้นมีคำรับรองจากประธานศาลแห่งจังหวัดนูรันเบอร์กฟูร์ตรับรองลายมือชื่อของโนตารีปับลิก ท้ายสุดมีคำรับรองของสถานกงสุลใหญ่ของประเทศไทยประจำเมืองมินเฮนซึ่งรับรองลายมือชื่อของประธานศาลดังกล่าว ตามหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว บ่งชี้ว่าบริษัทโจทก์เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายของประเทศเยอรมนีตะวันตก โจทก์เป็นผู้มอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า และหรือนายธเนศ เปเรร่า เป็นผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทย นายอัลเฟรด เบนเต้ และนางมาเรียนน์ ฮอฟพ์มันน์ เป็นผู้ลงชื่อในนามของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ซึ่งโนตารีปับลิกก็รับรองว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามบริษัทโจทก์โดยคำสั่งคณะกรรมการ ฝ่ายจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลและมอบอำนาจให้นายโรจน์วิทย์ เปเรร่า ฟ้องคดีนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาที่ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเลียนแบบและมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ ซึ่งคู่ความได้โต้แย้งตลอดมาทั้งสามศาล แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเนื่องจากได้ยกฟ้องเพราะเหตุที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ และวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยเป็นอักษรโรมัน พยัญชนะ ๕ ตัวแรกเหมือนกัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวอักษร “Adidas” ของจำเลยเป็นตัวอักษร “Adidang” รูปลักษณะและลีลาการเขียนตัวอักษรเหมือนกัน อ่านออกเสียงคล้ายกันมาก คือ อะดีดาส กับอะดีดัง ตามพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยนำสืบน่าเชื่อว่าจำเลยเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์แพร่หลายอยู่ในประเทศไทย จึงพยายามประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของจำเลยขึ้นมาโดยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพราะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันทั้งอาจกล่าวได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากจนน่าจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share