แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อบังคับของนายจ้างระบุว่า ‘เงินเดือน’ หรือ ‘ค่าจ้าง’หมายถึงเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นรายเดือนหรือรายวันเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส หรือประโยชน์อย่างอื่นก็ตาม เมื่อได้ความว่านายจ้างได้จ่ายค่าครองชีพให้ลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือน ค่าครองชีพที่ลูกจ้างได้รับจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือน ซึ่งถือว่าเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง หาใช่ประโยชน์อย่างอื่นตามข้อบังคับดังกล่าวไม่ นายจ้างต้องนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณบำเหน็จเพื่อจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามที่ลูกจ้างมีสิทธิตามข้อบังคับด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 4,100 บาทเป็นเงินเดือนเดือนละ 3,800 บาทค่าครองชีพเดือนละ 300 บาทโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างอัตราสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์ปฏิบัติงาน ในการจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ จำเลยมิได้นำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จด้วยทำให้เงินบำเหน็จขาดไป 2,552.50 บาทขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จส่วนที่ขาดไปดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าเงินที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจะต้องเป็นเงินเดือนเดือนสุดท้ายเท่านั้น ไม่รวมเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัส หรือประโยชน์อย่างอื่นเงินค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เฉพาะลูกจ้างที่มีรายได้น้อย มิใช่เป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการปฏิบัติงานของลูกจ้างแต่เป็นเงินประโยชน์อย่างอื่น จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าครองชีพมารวมคำนวณเป็นเงินบำเหน็จจำเลยจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ถูกต้องแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,552.50 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘จำเลยอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่าเงินค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มิใช่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานในเวลาปกติของวันทำงาน แต่เป็นเงินประโยชน์อย่างอื่นตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 10 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ฯ จำเลยจึงไม่ต้องนำเอาเงินค่าครองชีพดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์พิเคราะห์แล้วตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 10 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ฯ เอกสารท้ายฟ้องระบุไว้ว่า ‘เงินเดือน’ หรือ’ค่าจ้าง’ หมายถึงเงินที่จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเป็นรายเดือนหรือรายวันเพื่อตอบแทนการทำงานของผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ แต่ไม่รวมถึงเงินตอบแทนในลักษณะค่าล่วงเวลา โบนัสหรือประโยชน์อย่างอื่น เช่นนี้เมื่อได้ความว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือน เห็นได้ว่าค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงาน จึงเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างและเมื่อฟังว่าค่าครองชีพเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างแล้วจึงหาใช่ประโยชน์อย่างอื่นตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ ฯ ดังกล่าวไม่ ดังนี้ต้องนำค่าครองชีพมารวมเป็นฐานในการคำนวณบำเหน็จเพื่อจ่ายให้โจทก์ด้วย’
พิพากษายืน.