คำสั่งคำร้องที่ 1029-1031/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ทั้งสามสำนวนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปีและฎีกาของจำเลยทั้งหมดเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ จึงไม่รับฎีกาของจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยฎีกาข้อ2(1) เป็นปัญหาว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้เป็นการไม่ชอบ ฎีกาข้อ 2(2) เป็นปัญหาว่าจำเลยไม่ต้องรับผิด ฎีกาข้อ 2(3) เป็นปัญหาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย และฎีกาข้อ 2(4) เป็นปัญหาว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัยต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกโจทก์ร่วมสองสำนวนแรกว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เรียกโจทก์ร่วมสำนวนที่ 3 ว่า โจทก์ร่วมที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เช็ค3 ฉบับ เป็นความผิด 3 กระทง แต่ละกระทงจำคุก 1 ปี เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 3 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 134)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 136)

คำสั่ง
พิเคราะห์ฎีกาของจำเลยข้อ 2(1) ถึง (3) แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าจ้างที่ค้างชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ดังนั้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยมิได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าจ้างที่ค้างชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นการโต้เถียงในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ส่วนฎีกาของจำเลยข้อ 2(4) ที่ว่า พนักงานสอบสวนท้องที่ที่มีการออกเช็คไม่มีอำนาจสอบสวน และศาลซึ่งท้องที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตอำนาจไม่มีอำนาจชำระนั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้รับฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อ 2(4) ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

Share