แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าให้ภรรยาจำเลยที่ 1 ไว้จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความว่า โจทก์รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1เพื่อนำไปซื้อ เครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องวีดีโอ ให้จำเลยที่ 1 โดย ไม่ ได้รับความยินยอมจากโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการปลอมแปลงเอกสารสิทธิ และจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปแจ้งความต่อ พนักงานสอบสวนว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐาน ใช้ เอกสารสิทธิปลอมด้วย จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนอายุยังน้อย ส่วนจำเลยที่เป็นหญิงไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2ที่ 3 ประพฤติตน เป็นพลเมืองดี ต่อไป โดย ให้รอการลงโทษ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความในกระดาษเปล่าที่มีลายมือชื่อโจทก์ลงไว้ให้แก่นางสมยงค์ภรรยาจำเลยที่ 1 เนื่องในการเล่นแชร์ โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความว่า โจทก์รับฝากเงินจำเลยที่ 1 จำนวน 45,500 บาท เพื่อนำไปซื้อสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1แล้ว จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ฝาก ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3ลายมือชื่อเป็นพยาน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ วันที่ 30มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีชนะชัย ไชยทอง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสกลนคร อันเป็นเท็จว่า โจทก์ยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ความจริงจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ได้ยักยอกทรัพย์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพื่อจะแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษทางอาญา เป็นเหตุให้ร้อยตำรวจตรีชนะชัยเชื่อว่าเป็นความจริง จึงได้ออกหมายเรียกโจทก์ในฐานะผู้ต้องหา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลท่าแร่ และตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173, 174, 264, 265, 268, 83,91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบมาตรา 265 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 265 จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 คนละ 2 ปี จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 1 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งความเท็จจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาแจ้งความเท็จ โจทก์ฎีกาคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้นในข้อหาดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 13 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เฉพาะความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่านางสมยงค์ร่มโพธิ์ชัย ภรรยาจำเลยที่ 1 ตั้งวงแชร์ โจทก์เป็นลูกวงร่วมเล่นแชร์กับนางสมยงค์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 นางสมยงค์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 เข้าเป็นหัวหน้าวงแชร์แทนนางสมยงค์ จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนหนังสือรับฝากเงินหมาย จ.2 และลงลายมือชื่อในช่องผู้ฝากโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงลายมือชื่อในช่องพยานและมีลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้รับฝาก มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดข้อหาปลอมเอกสารสิทธิหรือไม่ และจำเลยที่ 1 กระทำผิดข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วยหรือไม่ โจทก์เบิกความว่าวันที่ 17 ธันวาคม 2526 เวลา 16นาฬิกา นางสมยงค์นำเช็คธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาสกลนคร ฉบับใหม่มาชำระค่าแชร์ที่โจทก์ประมูลได้ แล้วนางสมยงค์ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าไม่มีข้อความให้นางสมยงค์ไว้ โดยนางสมยงค์อ้างว่าลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ต้องลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน นางประไพศรีเรไร พยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่าเห็นโจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าที่ไม่มีข้อความตามลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.2 ให้นางสมยงค์ไว้ ซึ่งเดิมมีเพียงลายมือชื่อโจทก์และกากบาทหน้าลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น พยานถามนางสมยงค์ว่า คนระดับโจทก์ต้องลงลายมือชื่อด้วยหรือ นางสมยงค์ว่า ผู้ที่ประมูลแชร์ได้ต้องลงลายมือชื่อทุกคนและร้อยตำรวจตรีชนะชัย ไชยทอง พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2528 จำเลยที่ 1 นำสำเนาหนังสือรับฝากเงินเอกสาร หมาย จ.13 ไปแจ้งความต่อพยานกล่าวหาว่า โจทก์ยักยอกทรัพย์ พยานจึงออกหมายเรียกโจทก์มาที่สถานีตำรวจ โจทก์ปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1 ตามเอกสารนั้นเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้เท่านั้น ในชั้นแรกจำเลยที่ 1 ยังยืนยันต่อพยานว่าโจทก์ยักยอกทรัพย์แต่ในที่สุดจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องเล่นแชร์ ต่อมาโจทก์ขอให้พยานทำบันทึกถึงการยอมรับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.4 จ.5 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางบรรทม โสรินทร์ นางสุนันท์มีไกรลาศ นางดาราวรรณ พลากูร ซึ่งเล่นแชร์วงเดียวกับโจทก์ และนางพึงใจ บุญเหม นางวิไล ทองอันตังหรือสุวรรณศรี ซึ่งเล่นแชร์วงอื่นกับนางสมยงค์เป็นพยานเบิกความถึงพฤติการณ์อันไม่สุจริตของนางสมยงค์ว่า เมื่อพยานประมูลแชร์ได้ นางสมยงค์จะให้พยานลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นกระดาษสมุดมีเส้นบรรทัดลักษณะเช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.2 ประกอบกับได้ความจากนายพงษ์ศักดิ์พีรพงศ์พิพัฒน์ นางประไพ นายชอบ ตงกะพง นายแก้ว เจริญพงศ์ นางพิกุลเสมอพิทักษ์ นางเพ็ญศรี เวทศิริยานันท์ นางบรรทม นางพึงใจนางสุนันท์ และนางวิไลว่า ในการประชุมที่สำนักพระอัครสังฆราชท่าแร่กรณีเรื่องเล่นแชร์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายวิจิตร โชติกีรติเวชและลูกวงแชร์ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะคืนกระดาษเปล่าไม่มีข้อความที่มีลายมือชื่อลูกวงแชร์ลงไว้ให้แก่ลูกวงแชร์ เห็นว่า โจทก์มีทั้งประจักษ์พยานที่เห็นโจทก์ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่ามอบให้นางสมยงค์และมีพยานแวดล้อมกรณีหลายปากเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า นางสมยงค์จะให้ผู้ประมูลแชร์ได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าโดยอ้างว่าเพื่อเป็นหลักฐานว่า ประมูลแชร์ไปแล้วและจำเลยที่ 1 เคยยอมรับว่าจะคืนกระดาษเปล่าไม่มีข้อความที่มีลายมือชื่อลูกวงแชร์ลงไว้แก่ลูกวงแชร์ทั้งจำเลยที่ 1 ยังยอมรับกับร้อยตำรวจตรีชนะชัยว่า สำเนาหนังสือรับฝากเงินเอกสารหมาย จ.13 (ต้นฉบับคือเอกสารหมาย จ.2) เป็นเรื่องเล่นแชร์อันหมายถึงโจทก์ไม่ได้รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1 ร้อยตำรวจตรีชนะชัยจึงไม่ดำเนินคดีแก่โจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ตามที่จำเลยที่ 1กล่าวหาโจทก์ต่อร้อยตำรวจตรีชนะชัย ส่วนเอกสารหมาย จ.2 เป็นกระดาษสมุดบันทึกมีเส้นบรรทัด ผู้ที่เขียนข้อความลงในเอกสารนั้นย่อมเขียนเรียงข้อความทั้งหมดให้พอเหมาะกับกระดาษไม่ให้มีตัวอักษรเบียดกันหรือกระจายกันได้โดยไม่ยาก ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก็เคยเขียนข้อความในลักษณะเช่นเดียวกันกับข้อความในเอกสารหมาย จ.2 มาก่อนดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.24 พยานหลักฐานของโจทก์ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารรับฝากเงินดังกล่าวอันเป็นเอกสารสิทธิจำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงลายมือชื่อในช่องพยานในเอกสารนั้นจึงร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวเช่นเดียวกัน ที่จำเลยทั้งสามนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ฝากเงิน 45,500 บาท ให้โจทก์ไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สี และเครื่องวีดีโอ โดยโจทก์ทำหนังสือรับฝากเงินให้จำเลยที่ 1 ไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.2 เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีหนี้สินติดค้างค่าแชร์กันอยู่ จำเลยที่ 1จึงเขียนหนังสือทวงถามเงินค่าแชร์จากโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.7ปรากฏว่าหนังสือทวงถามฉบับที่ 5 ลงวันที่เดียวกับจำเลยที่ 1 อ้างว่าทำหนังสือรับฝากเงินเอกสารหมาย จ.2 กับโจทก์ จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะฝากเงินโจทก์ไปซื้อสินค้าดังกล่าวจริง ทั้งจำเลยที่ 1ที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ก็เบิกความแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญโดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 เขียนสัญญารับฝากเงินเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ไปตามจำเลยที่ 3 มาลงชื่อเป็นพยาน จำเลยที่ 3 มาถึงได้อ่านสัญญาแล้วจึงลงลายมือชื่อ แต่จำเลยที่ 3 กลับเบิกความว่าขณะไปถึงจำเลยที่ 1 ยังเขียนสัญญารับฝากเงินไม่เสร็จ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสามเป็นพิรุธไม่มีน้ำหนักพอฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ คดีฟังได้ว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเอกสารหมาย จ.2 ให้นางสมยงค์ภรรยาจำเลยที่ 1 ไว้แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันกรอกข้อความว่า โจทก์รับฝากเงินจากจำเลยที่ 1 นำไปซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีและเครื่องเล่นวีดีโอให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตามฟ้อง ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำภาพถ่ายของเอกสารหมาย จ.2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์ยักยอกทรัพย์จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานความผิดนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาตามมาตรา 265, 268 ประกอบมาตรา 265 จำคุก 2 ปี การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคม จำเลยที่ 1 หารู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้นไม่ ทั้งไม่ให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี กลับปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จำเลยที่ 2 อายุ 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 75 แล้ว จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี และปรับ 2,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี และปรับ 4,000 บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ประกอบกับขณะกระทำผิดจำเลยที่ 2เป็นนักเรียนอายุยังน้อยทั้งอยู่ในความปกครองดูแลของจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหญิงไม่เคยกระทำผิดมาก่อนเห็นควรให้โอกาส จำเลยที่ 2 ที่ 3 ประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”.