คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปถึงจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมรับข้อเสนอจนพ้นกำหนด 1 เดือน จำเลยไม่นำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง ดังนี้ การที่จำเลยไม่ฟ้องคดี แม้จะถือเท่ากับว่า จำเลยสนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์โดยปริยายตามมาตรา 739,741 แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยเหตุการไถ่ถอนตามมาตรา 744(4) ก็ต่อเมื่อโจทก์ใช้เงินแก่จำเลยตามจำนวนที่โจทก์เสนอจะใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จดทะเบียนจำนองพร้อมดอกเบี้ย หรือโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ซึ่งฟ้องโจทก์ก็หาได้ปรากฏถึงสภาพแห่งข้อหาที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่นว่านี้ไม่ เหตุตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีใดกรณีหนึ่งซึ่งจะถือว่าสัญญาจำนองระงับไปดัง ที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนระงับจำนอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยโจทก์ได้จดทะเบียนสิทธิครอบครองแล้วแต่เจ้าของเดิมได้ใช้กลฉ้อฉลนำไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ต้องรับโอนสิทธิครอบครองที่ดินโดยมีจำนองติดมาด้วย โจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปถึงจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2530โดยโจทก์ได้เตรียมเงินไว้พร้อมหากจำเลยที่ 1 ตอบรับคำเสนอ แต่จำเลยที่ 1 ไม่รับข้อเสนอ ดังนั้นเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยที่ 1ได้รับคำเสนอขอไถ่ถอนและจำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีต่อศาลขอขายทอดตลาดที่ดินแปลงติดจำนองนี้ โจทก์ถือว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปโดยผลของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2530 แล้วโจทก์ได้ไปติดต่อขอจดทะเบียนสิทธิระงับจำนองต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2531 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจดทะเบียนให้ จึงขอให้พิพากษาว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปแล้ว ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบ น.ส.3 ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อโจทก์จะนำไปจดทะเบียนระงับจำนอง ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนสิทธิระงับจำนอง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำฟ้องของโจทก์ที่บรรยายมานั้นถือได้ว่า สัญญาจำนองระงับไปแล้วดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่าความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 744 บัญญัติถึงเหตุอันจำนองระงับสิ้นไปไว้ 6 กรณี กล่าวคือ
(1) เมื่อหนี้ที่ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความ
(2) เมื่อปลดจำนองให้แก่ผู้จำนองด้วยหนังสือเป็นสำคัญ
(3) เมื่อผู้จำนองหลุดพ้น
(4) เมื่อถอนจำนอง
(5) เมื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองตามคำสั่งศาลอันเนื่องมาแต่บังคับจำนองหรือถอนจำนอง
(6) เมื่อเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด
ตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏแต่เพียงว่า โจทก์ได้ทำหนังสือขอไถ่ถอนจำนองไปถึงจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอจนพ้นกำหนด 1 เดือน จำเลยที่ 1 ไม่นำคดีฟ้องต่อศาลเพื่อขายทอดตลาดทรัพย์สินที่จำนอง การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีดังกล่าว แม้จะถือเท่ากับว่า จำเลยที่ 1 สนองรับคำเสนอขอไถ่ถอนจำนองของโจทก์โดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 739, 741 แล้วก็ตาม แต่จำนองจะระงับไปโดยเหตุดังกล่าวนี้ก็ต่อเมื่อ โจทก์ใช้เงินแก่จำเลยที่ 1ตามจำนวนที่โจทก์เสนอจะใช้เท่ากับจำนวนเงินที่จดทะเบียนจำนองพร้อมดอกเบี้ย หรือโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางทรัพย์ณ สำนักงานวางทรัพย์แล้ว ซึ่งฟ้องโจทก์ก็หาได้ปรากฏถึงสภาพแห่งข้อหาที่ถือว่าเป็นสาระสำคัญเช่นว่านี้ไม่ เหตุตามคำฟ้องของโจทก์มิใช่กรณีใดกรณีหนึ่งซึ่งจะถือว่าสัญญาจำนองระงับไปดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนสิทธิระงับจำนอง และไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยทั้งสองในทำนองนี้ ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนมาชั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share