คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2526/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 เสมียนทนายจำเลยลงชื่อในตรายางซึ่งประทับในฎีกามีความว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว”เมื่อศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยและกำหนดเวลาให้จำเลยส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง ในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยยื่นฎีกา 1 วัน ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยโดยชอบ และจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยจะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นคือวันที่ 7 ธันวาคม 2533 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534ว่าจำเลยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้อง.

ย่อยาว

มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 588,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ฎีกาของจำเลยหน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว”โดยมีลายมือชื่อของนายปิง ตั้งสมชัยศิลป์ เสมียนทนาย ผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยให้มายื่นฎีกาดังกล่าวเข็นไว้ในช่องระหว่างคำว่า”(ลงชื่อ)” กับคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 ว่า เสนอวันนี้ ครบกำหนดยื่นฎีกาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2533 เป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ จำเลยยื่นฎีกาวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรกได้ รับฎีกาสำเนาให้โจทก์แก้ให้จำเลยนำส่งภายใน 15 วัน นับแต่ส่งไม่ได้มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่า พ้นกำหนด 15 วัน แล้วจำเลยหรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกาจัดการส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วันนับแต่ทราบคำสั่ง และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยยื่นฎีกา 1 วัน ก็ตาม การที่นายปิงเสมียนทนายผู้รับมอบฉันทะจากทนายจำเลยลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วและยังปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาตั้งแต่วันที่27 พฤศจิกายน 2533 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่กำหนดให้จำเลยมาทราบคำสั่ง ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยโดยชอบและจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2533 ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยจะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นคือวันที่ 7 ธันวาคม 2533 แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่าจำเลยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา.

Share