คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่าที่พิพาทซึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก. ตำบลหรือ คชก. จังหวัดแล้วแต่กรณี ต้องใช้สิทธิทางศาล แม้โจทก์จะฝ่าฝืนคำสั่งของ คชก.ตำบล และมีความผิดตามพระราชบัญญัติ การเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมฯ มาตรา 62 คชก.ตำบลก็ต้องใช้สิทธิทางศาลด้วย จำเลยซึ่งเป็นกรรมการ คชก.ตำบลจึงไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถในไร่อ้อยของโจทก์ และมีความผิดฐานบุกรุก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นกำนันตำบลหนองโพธิ์ จำเลยที่ 2เป็นพวกของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองกับพวกนำรถแทรกเตอร์ 4 คัน บุกรุกเข้าไปในที่ดินซึ่งโจทก์ครอบครองทำให้โจทก์เสียหายโดยอ้างว่าเป็นการกระทำตามกฎหมายและมติของ คชก.ตำบลหนองโพธิ์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(1)(2), 358, 359(1), 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2), 359(4), 91, 83 ให้ลงโทษฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) จำคุกกระทงละ 1 ปี ปรับกระทงละ3,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี ปรับคนละ 6,000 บาทโทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษกำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและของผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้แตกต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่คณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลหรือ คชก.ตำบล ได้วินิจฉัยสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่พิพาท โจทก์ไม่อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด หรือ คชก.จังหวัด เป็นผลให้คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล ถึงที่สุดตามความในมาตรา 5 และ 56 เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล ย่อมมีความผิดตามความในมาตรา 62 และการเช่าที่พิพาทของโจทก์ได้สิ้นสุดลงแล้ว การปลูกอ้อยของโจทก์เป็นการปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง เมื่อเสร็จการเก็บเกี่ยวครั้งแรกหลังจากการเช่าที่พิพาทได้เลิกหรือสิ้นสุดลงแล้ว แม้การเก็บเกี่ยวอ้อยยังจะต้องรอให้งอกขึ้นมาแล้วเก็บเกี่ยวได้อีกโจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเก็บเกี่ยวอ้อยในที่พิพาทนั้นต่อไปได้อีก ตามความในมาตรา 39 การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปไถต้นอ้อยในที่พิพาทซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ อีกแล้วย่อมไม่มีความผิดนั้นเห็นว่าตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524ที่ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไว้เป็นพิเศษก็ได้บัญญัติถึงคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่าที่พิพาทที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด หรือ คชก.ตำบลแล้วแต่กรณีว่าคู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อ คชก.จังหวัดหรือไม่ ก็มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลได้ และในการพิจารณาคดีของศาลในเรื่องนี้ให้ถือว่าคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของคชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด โดยอนุโลม ตามความในมาตรา 58และถ้าหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือคชก.จังหวัด ที่ห้ามมิให้ผู้นั้นขัดขวางการทำงานของผู้มีสิทธิในที่นาหรือที่ให้ผู้นั้นออกจากนา โดยไม่มีเหตุอันสมควรจะต้องได้รับโทษ ตามความในมาตรา 62 เช่นนี้แล้ว แสดงว่าผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ คชก.ตำบล หรือ คชก.จังหวัด คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่าที่พิพาทไม่พอใจในคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลหรือ คชก.จังหวัด ก็จะต้องใช้สิทธิทางศาล แม้แต่ คชก.ตำบล หรือหรือ คชก.จังหวัดก็มีสิทธิร้องขอต่อศาลได้ด้วย การที่จำเลยทั้งสองดำเนินการนำรถแทรกเตอร์เข้าไปไถไร่อ้อยของโจทก์ โดยไม่มีอำนาจจะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน

Share