แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้ว โจทก์จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นไป อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกันต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตรา สูงกว่ามาใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาปัญหานี้ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้จำเลย ใช้แทนให้สูงขึ้นได้ การรื้อถอนบ้านจำเลยออกจากที่ดินพิพาทนั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้วโจทก์จะรื้อถอนบ้านของจำเลยเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลย ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านที่จำเลยปลูกอาศัยบนที่ดินของโจทก์ออกไป และห้ามจำเลยกับบริวารมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าวอีก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนบ้านได้เอง โดยให้จำเลยจ่ายค่ารื้อถอนที่ใช้จ่ายไปให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของโจทก์ยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 30 ตารางวา ให้แก่นายหลิน บุตรโจทก์จำเลยกับนายหลินปลูกบ้านในที่ดินดังกล่าว ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยสงบและเปิดเผยนับแต่ปี 2512 จนถึงปัจจุบันจำเลยจึงมีสิทธิครอบครองดีกว่าโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านที่จำเลยปลูกอาศัยบนที่ดินของโจทก์ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1522 ตำบลเมืองเก่า อำเภอกบินทร์บุรีจังหวัดปราจีนบุรี ห้ามจำเลยกับบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินแปลงดังกล่าว หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนบ้านให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว โจทก์โอนที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 1522 ที่พิพาทให้แก่ผู้อื่นจะทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์หมดไปหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้วโจทก์จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. ที่พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปแล้วก็ตาม อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความใช้แทนเกินกว่าอัตราขั้นสูงและพิพากษาแก้มานั้นเป็นการไม่ถูกต้องเพราะคดีนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกัน จึงต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตราสูงกว่ามาใช้บังคับ อย่างไรก็ตามโจทก์มิได้ฎีกาปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนให้สูงขึ้นได้
อนึ่ง การรื้อถอนบ้านจำเลยออกจากที่ดินพิพาทนั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้ว โจทก์จะรื้อถอนบ้านของจำเลยเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ว่า ถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อถอนก็ให้โจทก์รื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1